เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เด่นสุด แม้โลกเผชิญภาวะถดถอย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มองว่าเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้าก็ตาม
เอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เห็นทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ด้วยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การที่ธนาคารกลางหลายประเทศประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดกั้นปัญหาเงินเฟ้อ สงครามในยูเครน หลังจากรัสเซียเข้ารุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ และสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศจีน เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของชาติในเอเชียชะงักลง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุด (Asia Sails Into Headwinds From Rate Hikes, War, and China Slowdown) IMF ประเมินว่า เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอยู่
IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะขยายตัว 4% ในปีนี้ และ 4.3% ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบมากกว่าสองทศวรรษ และแม้ว่าการเติบโตจะลดลง IMF ยังคงมองว่า เศรษฐกิจของเอเชียจะขยายตัวมากกว่าในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มจะเติบโต 3.1% ในปีนี้ และ 0.5% ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.6% ในปีนี้ และ 1.0% ในปี 2566
โดยรวมแล้ว ระบบเศรษฐกิจของเอเชียนั้นมีความแตกต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียมีความหลากหลายมากกว่า ทำให้เมื่อเผชิญวิกฤติแบบที่ยุโรปกำลังเผชิญ ณ ปัจจุบัน ชาติในเอเชียสามารถรับมือกับวิกฤตินี้ได้ดีกว่ายุโรป และยังชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียยังคงมีช่องว่างสำหรับนโยบายที่เน้นการเติบโตในภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคอื่นของโลกที่ประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับสภาพการเงินให้เข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ IMF มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีหน้า เช่น เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นศูนย์กลางซัพพลายเชนที่มีความหลากหลาย ขณะที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตในกรอบ 4-6%
ในส่วนของประเทศไทยและกัมพูชา IMF คาดว่า ภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศนี้จะฟื้นตัว และมีทิศทางการเติบโตในเชิงบวก
นอกเหนือจากนี้ จากข้อมูลของธนาคารดีบีเอส พบว่า ภาคการส่งออกของกลุ่มอาเซียน-6 อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ยังเติบโตดีกว่าภาคการส่งออกในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ และส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ผนวกกับปัญหาขาดแคลนอุปทาน ทำให้ผู้ส่งออกในอาเซียนได้ประโยชน์
อีกทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล้วนอยู่เหนือระดับ 50 หมายถึงเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน
ในส่วนของภูมิภาคเอเชียใต้ IMF กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในบริเวณนี้ เช่น ศรีลังกา บังกลาเทศ ค่อนข้างซบเซา เนื่องจากศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรง ขณะที่บังกลาเทศได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ประเทศไม่สามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
สำหรับประเทศจีน IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ในปีนี้ และอาจขยายตัว 3.2% ขณะที่ในปี 2566 จะขยายตัว 4.4% แต่สถานการณ์นี้จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลจีนทยอยผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่มีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก
ที่มา: ซีเอ็นบีซี