นายฟาทีห์ บิรอล ผู้อำนายการองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA กล่าวว่า การที่ตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตึงตัว และกลุ่มโอเปกพลัสประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ทั่วโลกต้องอยู่ท่ามกลาง “วิกฤติพลังงานระดับโลกอย่างแท้จริง” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นายบิรอล กล่าวว่า การที่ตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวตึงตัว มีสาเหตุหลัก ๆ 3 ประการ คือ 1) ชาติยุโรปเพิ่มการนำเข้าก๊าซ LNG อันเนื่องมาจากวิกฤติสงครามในยูเครน ที่ทำให้สหภาพยุโรปต้องประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย 2) แนวโน้มความต้องการพลังงานที่ปรับตัวขึ้นในประเทศจีน ขณะที่คาดการณ์ว่าจะมีก๊าซธรรมชาติเหลวเพียง 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ที่พร้อมออกสู่ตลาดในปีหน้า
และ 3) การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและชาติพันธมิตรที่รวมตัวกันในนาม โอเปก พลัส (OPEC+) ตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนายบิรอลมองว่าการตัดสินใจเช่นนี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตลาดพลังงานทั่วโลก เนื่องจาก IEA คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเติบโตขึ้นเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ อีกทั้งหลายประเทศกำลังอยู่ในภาวะถดถอย
การที่ราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน พากันปรับตัวขึ้น ยิ่งทำให้วิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกเลวร้ายขึ้น ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันความต้องการก็กำลังจะเพิ่มขึ้นเมื่อซีกโลกเหนือกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งถือเป็นช่วงสูงสุดของการบริโภคพลังงาน โดยเฉพาะในทวีปยุโรป
นายบิรอลคาดหวังว่าสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวในยุโรปจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เกิดภัยพิบัติใด ๆ และไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น การที่ท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีมระเบิด เป็นต้น หากเป็นดังที่คาดไว้จะทำให้ทวีปยุโรปสามารถผ่านพ้นหน้าหนาวโดยมีความฟกช้ำทางเศรษฐกิจและสังคมพอประมาณ แต่ไม่ถึงขั้นเลวร้าย
ความต้องการน้ำมันคาดว่าจะปรับตัวขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2566 ด้วยเหตุนี้ นายบิรอลยังเห็นถึงความสำคัญของน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อที่ปริมาณน้ำมันจะเพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ หรือ จี 7 (G7) ได้เสนอมาตรการที่จะช่วยให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่สามารถซื้อน้ำมันของรัสเซียได้ แต่ต้องซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เพื่อจำกัดรายได้ที่จะเข้าสู่รัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียนำเงินไปก่อสงครามในยูเครนต่อ อย่างไรก็ดี นายบิรอลมองว่ามาตรการนี้ยังมีหลายประเด็นให้ต้องพิจารณา และจะต้องได้รับการอนุมัติจากหลาย ๆ ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่
ขณะเดียวกัน นายบิรอลมองว่า วิกฤติพลังงานครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทั่วโลกจะหันมาบริโภคพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้พลังงานมีความยั่งยืน และมั่นคงขึ้น
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ปรับประมาณการการเติบโตของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดในปี 2565 เป็นเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบเพิ่มขึ้น 8% ในปีก่อนหน้านี้ โดยมีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเกือบ 400 กิกะวัตต์ในปีนี้
นายบิรอลกล่าวเพิ่มเติมว่า หลายประเทศในยุโรปและชาติอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังเร่งการติดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
ที่มา: รอยเตอร์