การผลิตเอเชียชะลอ หลังดีมานด์โลกหด

การผลิตเอเชียชะลอ หลังดีมานด์โลกหด

ภาคการผลิตของเอเชียปรับตัวลงเพิ่มในเดือนตุลาคม หลังความต้องการสินค้าสำหรับการอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอ่อนตัวลงต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนสุด คือ การผลิตในไต้หวัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ของ S&P Global ตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิต และการบริการ ปรับตัวลงจาก 42.2 ในเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 41.5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นค่าการอ่านที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2552

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ภาคการผลิตของไต้หวันหดตัวมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้า และความต้องการลดลงต่อเนื่อง ทำให้โรงงานต่าง ๆ ต้องชะลอการผลิต ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ก็ส่งผลกระทบต่อการค้าในเอเชีย ที่เคยเติบโตมากตอนช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องชะงักลง

S&P Global กล่าวว่า ผลจากความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อ่อนตัวลงทำให้ดัชนี PMI ของไต้หวันออกมาในลักษณะนี้ โดยยอดคำสั่งใหม่ในภาคการผลิตของไต้หวันหดตัวลงมากที่สุดตั้งแต่โรคโควิดเริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563

ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของญี่ปุ่น ลดลงจาก 50.8 มาอยู่ที่ 50.7 ในเดือนตุลาคม เช่นเดียวกันกับในกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ดัชนี PMI ลดลงจาก 48.2 มาอยู่ที่ 47.3 ในเดือนตุลาคม ซึ่งปรับตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ การส่งออกของเกาหลีก็หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีในเดือนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว

นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังหดตัวลง ไทยเป็นประเทศที่ดัชนี PMI ปรับตัวลงมากที่สุดในเดือนตุลาคม โดยดัชนีลดลงจาก 55.7 มาอยู่ที่ 51.6 เนื่องจากราคาขายปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ และอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนตัวลง ด้านอินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็กำลังเผชิญการเติบโตที่ชะลอตัวลงในเดือนที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ดัชนีภาคการผลิตของจีนที่เปิดเผยออกมา เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบังคับใช้นโยบายโควิดที่ส่งผลกระทบต่อทั้งความต้องการในประเทศ และการผลิต

ด้านดัชนี PMI ที่จัดเก็บโดยหน่วยงานเอกชน Caixin และที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่างอยู่ที่ 49.2 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหากอยู่ที่ระดับเหนือ 50 หมายถึงเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ อยู่ในเกณฑ์ขยายตัว แต่หากต่ำกว่า 50 หมายถึงเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัว

ทั้ง Caixin และ S&P Global กล่าวตรงกันว่า ด้วยปัจจัยด้านอุปทาน หรือซัพพลาย ด้านอุปสงค์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และการจ้างงาน ล้วนส่งผลให้การผลิตของภูมิภาคเอเชียหดตัวในเดือนตุลาคม

ที่มา: บลูมเบิร์ก