ธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศในเอเชียกำลังฟื้นตัวได้ดี หลังคนกลับมาเดินทางมากขึ้น โดยเห็นได้จากยอดจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นาย Subhas Menon ผู้อำนวยการทั่วไป ของสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (AAPA) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
นาย Menon กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบิน ณ ขณะนี้ฟื้นตัว เพราะสายการบินประเมินความต้องการไว้ต่ำเกินไป ทั้งๆ ที่สายการบินต่างก็มีอุปทานมากพอที่จะรองรับความต้องการนี้ อีกทั้งสายการบินต้องเผชิญกับต้นทุนการบินที่ผันผวน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
แม้การเดินทางในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ก็ถือว่าช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียเพิ่งผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ และทยอยเปิดพรมแดนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่เพิ่งประกาศกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ยังคงยึดมั่นกับมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และเดินหน้าขยายการล็อกดาวน์ หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน
อย่างไรก็ดี สายการบินหลายแห่งในภูมิภาค เช่น สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และควอนตัส แอร์เวย์ สายการบินประจำชาติออสเตรเลีย เริ่มกลับมารายงานผลประกอบการของบริษัท โดยสามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์และกลับไปจ่ายเงินปันผลได้อีกครั้ง เนื่องจากความต้องการสะสมเยอะ ในขณะที่อุปทานมีจำกัด แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ตาม
ขณะที่ สายการบิน อย่างเช่น คาเธ่ย์ แปซิฟิก ของฮ่องกง ไชน่า แอร์ไลน์ส ของไต้หวัน และโคเรียน แอร์ ของเกาหลีใต้ อาศัยธุรกิจการขนส่งสินค้าเป็นรายหลักของบริษัทในช่วงเกิดโรคระบาด เนื่องจากจำนวนผู้โดยสายลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้ในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ตลาดขนส่งสินค้า หรือ คาร์โก้ กำลังอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังเจอผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อ นโยบายปลอดโควิดของประเทศจีน และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ในการประชุมประจำปีของสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเดียวกัน นาย Anand Stanley ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า แอร์บัสคาดการณ์ว่า ความต้องการเครื่องบินในเอเชียจะเป็นตัวเร่งกระตุ้นความต้องการเครื่องบินหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากภูมิภาคกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
นาย Stanlay กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการเครื่องบินไม่ใช่เพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า แต่เป็นความต้องการเพื่อขยายธุรกิจ
ถึงแม้เอเชียจะเปิดประเทศช้ากว่าส่วนอื่นๆ ของโลก แต่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของภูมิภาค อย่าง สิงคโปร์ และไทยได้กลับมาเปิดประเทศอีกครั้งแล้ว ในขณะเดียวกัน อินเดียที่มีตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
แอร์บัสคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นปีละ 5.1% ไปจนถึงปี 2584 ในขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.1% ต่อปี
ที่มา: บลูมเบิร์ก