โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ชะลอลงหกเดือนติดต่อกันมาอยู่ที่ 6.5% YoY ในเดือนธ.ค. (เดือนก่อนอยู่ที่ 7.1%) เป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่เดือนต.ค. 2021และ in-line ไปกับคาดการณ์ตลาด เมื่อเทียบรายเดือนอัตราเงินเฟ้อพลิกกลับมาหดตัวที่ -0.1% MoM กลับขาติดลบเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2020 และหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาด
ในรายสินค้า พบว่า
- ราคาพลังงาน (มีน้ำหนักในการคำนวณ 8%) ปรับตัวลดลง -4.5% MoM จากเดือนก่อนหน้าที่ -1.6%
- ราคาสินค้าในหมวดที่พัก (Housing) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42.3% น้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 0.7% MoM ต่อเนื่องจาก 0.4% ในเดือนก่อน เช่นเดียวกับราคาในหมวดบริการที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล (1.5% MoM), ซ่อมรถยนต์ (1.0%) และประกันรถยนต์ (0.6%) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง
- ด้านสินค้ากลุ่มอาหาร (มีน้ำหนักในการคำนวณที่ 14%) ยังคงบวกแต่ชะลอลงมาที่ 0.3% MoM จากเดือนก่อนที่ 0.5%
ข้อสังเกตด้าน Pattern ของเงินเฟ้อสหรัฐฯ นั้น มีความหนืดกว่าเงินเฟ้อประเทศอื่น เนื่องจากค่าน้ำหนักไปอยู่ที่ส่วนของที่พักอาศัยค่อนข้างมาก ซึ่งลงยาก ดังนั้น หากพลังงานและอาหารปรับตัวลง เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจจะยังตื้อๆ กว่าประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนของอาหารและพลังงานมากกว่า
ทั้งนี้ หากตัดสินค้าในกลุ่มอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยออกไป พบว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ติดลบ -0.1% MoM คงที่ มาตั้งแต่เดือน ต.ค. ชี้ให้เห็นว่า เมื่อนำกลุ่มอ่อนไหวออกไป อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงมาต่อเนื่องแล้ว ดังนั้น เงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. 2022 ที่โต 9.1% ไปแล้ว แต่อาจจะไม่ลงง่าย เนื่องจากราคาฝั่งบริการและที่อยู่อาศัยมีความหนืด
ทั้งนี้ จากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุด ทำให้ตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ น่าจะยืนอยู่ราวๆ 5% สะท้อนว่า ตลาดมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยแรงในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในเดือนนี้
เงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านพีคไปสักพักใหญ่แล้ว
ตลาดมองว่า Fed ไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยแรงในการประชุมเดือนม.ค.นี้