นักวิเคราะห์คาดราคาแร่เงินปีนี้มีโอกาสทำนิวไฮครั้งใหม่ในรอบ 9 ปี พุ่งแตะระดับ 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีกว่าราคาทองคำ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาแร่เงินขาดแคลน
อ้างอิงจากสถิติที่รวบรวมโดย Refinitiv พบว่า ราคาแร่เงินแตะระดับ 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ครั้งล่าสุดคือในเดือนกุมภาพันธ์ 2013
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้ราคาแร่เงินทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 9 ปีคือ จากปัญหาขาดแคลนโลหะเงิน อีกทั้งมีโอกาสที่แร่เงินจะทำผลงานได้ดีกว่าทองคำในภาวะเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
Janie Simpson ซีอีโอ ABC Bullion กล่าวว่า จากสถิติแล้วพบว่า เมื่อใดก็ตามที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ราคาแร่เงินเคยปรับตัวขึ้นเกือบ 20% ต่อปี ด้วยสถิติและราคาโลหะเงินที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับทองคำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาโลหะเงินจะพุ่งไปที่ 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีนี้ แม้ว่านั่นจะมีแนวโน้มว่าจะทะลุแนวต้านก็ตาม
ราคาแร่เงินเคยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 49.45 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปี 1980 และเมื่อย้อนดูอัตราเงินเฟ้อในปีนั้น พบว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 13.5% และราคาแร่เงินก็พุ่งขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปี 1976 ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.7% ขณะที่ล่าสุด ราคาโลหะเงินซื้อขายกันที่ 24.02 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ 6.5% ข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาแร่เงินและอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญนอกจากอัตราเงินเฟ้อ คือ การที่แร่เงินกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน และมีการลดลงของแร่เงินสำรองอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับทองคำ โดยเฉพาะในคลังที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ และลอนดอน อังกฤษ อ้างอิงจาก Nicky Shiels หัวหน้านักกลยุทธ์โลหะจาก MKS Pamp
Shiels เสริมว่า มีการคาดการณ์ว่าแร่เงินจะขาดดุลมากกว่า 100 ล้านออนซ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการในภาคอุตสาหกรรมไม่สอดคล้องกับปริมาณโลหะเงินสำรอง ทำให้เกิดภาวะอุปทานตึงตัว
ณ ปัจจุบัน ความต้องการโลหะเงินมากที่สุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นเกือบ 50% ของอุปสงค์ทั้งหมด โดย Shiels คาดการณ์ว่าในปีนี้มีโอกาสที่แร่เงินจะแตะระดับ 28 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ก็ยังมีเซนติเมนต์เชิงบวกว่าราคาแร่เงินจะพุ่งสู่ระดับ 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือมากกว่านั้น เนื่องจากความต้องการโลหะเงินจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากความต้องการโลหะเงินในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก
โลหะเงินเป็นวัสดุพื้นฐานที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตรถยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องประดับ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
จากข้อมูลของ The Silver Institute พบว่า การผลิตแร่เงินจากเหมืองในปี 2022 อยู่ที่ 843.2 ล้านออนซ์ ซึ่งถือว่าไม่ได้ปรับตัวลงเยอะเมื่อเทียบกับปี 2016 ที่ 900 ล้านออนซ์ ซึ่งเป็นปีที่มีการผลิตแร่เงินมากสุดในรอบทศวรรษ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับที่ Randy Smallwood จาก Wheaton Precious Metals กล่าวว่า เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการผลิตแร่เงินทั่วโลกกำลังลดลง และการผลิตแร่เงิน ก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างทันที
Smallwood กล่าวว่า แม้ราคาแร่เงินจะปรับตัวขึ้น แต่เหมืองเงินก็ไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ เนื่องจากเหมืองเงินผลิตโลหะเงินได้เพียง 25% อีกทั้งตลาดก็มักจะพึ่งพาเหมืองตะกั่ว และสังกะสี ในการผลิตแร่เงินเพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นมากกว่า
อย่างไรก็ดี บริษัท MKS Pamp มองว่า ก็มีโอกาสที่ราคาโลหะเงินจะปรับตัวลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้ราคาแร่เงินปรับตัวลงมาอยู่ที่ 18 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ในขณะเดียวกับ หากเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อราคาโลหะเงิน
ที่มา: ซีเอ็นบีซี