ผลสำรวจรอยเตอร์ ชี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้มีโอกาสเติบโตไม่เกิน 2% เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจนี้สวนทางกับหลายๆ คาดการณ์ก่อนหน้าที่เป็นไปในทิศทางบวก
คาดการณ์ก่อนหน้ามองว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกจะไม่รุนแรง เนื่องจากราคาน้ำมันและพลังงานกำลังปรับตัวลง เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศที่ค่อยๆ ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ อีกทั้งเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปก็มีความยืดหยุ่นกว่าที่คาดและกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ จีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็กลับมาเปิดประเทศอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อย
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกของ MSCI เพิ่มขึ้นเกือบ 20% มาแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 มกราคม) หลังลงไปแตะระดับต่ำสุดในเดือนตุลาคมปีก่อน แม้จะมีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางในหลายประเทศจะคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกสักพักก็ตาม
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์กลับมีมุมมองที่ตรงข้ามกัน โดยพวกเขาได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่มองว่าจะขยายตัว 2.3% และ 3.0% ตามลำดับ มาอยู่ที่ขยายตัวเพียง 2.1% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโต 2.7%
มากกว่าสองในสามของนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคือการเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจจะเติบโตมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการที่หลายชาติขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไปอีก ย่อมมีผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นักกลยุทธ์จาก Rabobank กล่าวว่า แม้ตลาดจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องจากความคาดหวังว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางบวก และปรับตัวลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงขาลงจะหมดไป
ทั้งนี้ ด้วยความเสี่ยงที่ยังคงอยู่นี้ ทำให้มากกว่า 80% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสอบถามปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงจากแบบสำรวจเดิมเมื่อเดือนตุลาคม และอีกประมาณ 80% ของนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้เพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ โดยให้เหตุผลมาจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดไปอีกสักระยะ
ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ก็ประเมินว่าอัตราการว่างงานน่าจะปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับที่ค่อนข้างต่ำ ชี้ให้เห็นว่าธนาคารกลางไม่มีที่ว่างมากพอที่จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้
มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงสิ้นปีนี้ แต่ก็มีบางส่วนมองว่าหลายชาติจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สี่
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ถูกคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายครั้งถัดไป คงค่อยคงอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวไว้
ตลาดมองว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้งในอัตรา 0.50% ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง คือ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ที่มา: รอยเตอร์