แรงงานมากกว่า 5 แสนคนพากันสไตรก์ผละงานในสหราชอาณาจักร เมื่อวันพุธ (1 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องขอค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เครือข่ายการขนส่งเป็นอัมพาต และชั้นเรียนเป็นพันๆ หมื่นๆ ห้องมีแต่ความว่างเปล่า ในความเคลื่อนไหวประท้วงทางแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ
ทั่วทั้งยุโรปเวลานี้ กำลังต่อสู้กับวิกฤตค่าครองชีพ และการสไตรก์ ล่าสุดในสหราชอาณาจักรคราวนี้บังเกิดขึ้น 1 วันหลังจากผู้คนมากกว่า 1.27 ล้านคนออกมาประท้วงตามท้องถนนในฝรั่งเศส เพิ่มแรงบีบคั้นรัฐบาลแดนน้ำหอมที่กำลังพยายามผลักดันแผนปฏิรูป ซึ่งจะเพิ่มอายุลูกจ้างพนักงานที่มีสิทธิเกษียณ
สมัชชาแรงงาน Trades Union Congress (TUC) ที่เป็นองค์การแรงงานใหญ่ของสหราชอาณาจักร เรียกการผละงานในวันพุธว่า เป็น “วันนัดผละงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011” โดยผู้เข้าร่วมกลุ่มใหญ่ที่สุด ได้แก่ ครูอาจารย์ และคนขับรถไฟ เช่นเดียวกับพวกเจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งประจำตามสนามบินและท่าเรือต่างๆ ของ UK
ด้านนายกรัฐมนตรี ริซี ซูแน็ก ออกมาแถลงว่า จะขอดำเนินการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างสมเหตุสมผล และตามความสามารถที่จะจ่ายได้ พร้อมเตือนว่า การปรับขึ้นค่าจ้างมากเกินไปจะบั่นทอนความพยายามควบคุมเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพแรงงานกล่าวหาเศรษฐีอย่างซูแน็ก ว่า ไม่ได้รู้สึกรู้สากับปัญหาความยากลำบากต่างๆ ที่ชนชั้นแรงงานทั่วไปต้องเผชิญ ต้องดิ้นรนจัดการกับค่าจ้างระดับต่ำ ขาดความมั่นคงในหน้าที่การงานและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ระยะหลายเดือนที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเผชิญการผละงานของแรงงานหลายหมื่นคนอยู่ เป็นระยะๆ เรื่อยมา โดยมีทั้งพนักงานไปรษณีย์ ทนายความ พยาบาล และลูกจ้างในภาคค้าปลีก ท่ามกลางเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรที่พุ่งเกิน 11% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
เกรแฮม ซึ่งไม่ประสงค์เผยชื่อนามสกุล พนักงานของศูนย์หางานและเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน ระบุว่า แรงงานไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากผละงานประท้วง เนื่องด้วยต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ “สมาชิกของเรา บางคน แม้ว่าพวกเขามีงานทำอยู่ แต่ก็ยังคงต้องไปรับความช่วยเหลือที่ธนาคารอาหาร”
ในวันพุธ สถานีรถไฟในลอนดอน แทบไม่มีผู้คนหรือไม่ก็ถูกปิดบริการโดยสิ้นเชิง
มิค ลีนซ์ ผู้นำสหภาพ RMT ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานรถไฟจำนวนมาก บอกกับคณะครูที่ร่วมเดินขบวนไปทั่วลอนดอนมุ่งหน้าสู่รัฐสภาว่า “แรงงานทุกคนต้องการค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แรงงานทุกคนต้องการข้อตกลงที่เสมอภาค เราต้องการการเปลี่ยนแปลง”
ขณะที่ แมรี บัวสเตด และเควิด คอร์ทนีย์ ประธานร่วมของสหภาพแรงงานครู NEU เตือนว่า โรงเรียนทั้งหลายอาจได้รับผลกระทบจากการผละงานประท้วงครั้งต่อๆ ไป จนกว่ารัฐบาลจะมาพร้อมกับข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล บรรดาผู้บริหารองค์กรและบริษัทต่างๆ ยืนยันจุดยืนของตนเอง ในเรื่องข้อเรียกร้องด้านค่าจ้าง ในนั้นรวมถึง กิลเลียน คีแกน รัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุไทมส์ เรดิโอ ว่าเธอรู้สึกผิดหวังมากต่อการผละงานประท้วงของคณะครู
ที่มา: เอเอฟพี