‘ธารน้ำแข็ง’ ละลายหนัก ผลผลิตพลาสติกพุ่ง สะท้อน ‘ลดโลกร้อน’ ยังไม่พอ

‘ธารน้ำแข็ง’ ละลายหนัก ผลผลิตพลาสติกพุ่ง สะท้อน ‘ลดโลกร้อน’ ยังไม่พอ

อากาศที่ร้อนตับแลบในบ้านเราตอนนี้ ทำให้ร่างกายหลายคนที่ปรับตัวไม่ทัน ป่วยไข้ไปตามๆ กัน โดยเฉพาะผู้สูงวัย ขณะที่ผลวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า มวลน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง สะสมจนเกิดเป็นทะเลสาบกำลังทำให้ประชาชนบนภูเขาสูงราว 15 ล้านคน มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเจอน้ำท่วมหนัก และความพยายามลดการใช้พลาสติก ดูจะไม่เป็นผล เพราะการผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นปีละ 6 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2562-2564

คณะนักวิจัยในนิวซีแลนด์และนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารเนเจอร์ ระบุว่า มวลน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง ซึ่งหดตัวลง เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สะสมจนเกิดเป็นทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง และทำให้ประชาชนบนภูเขาสูงราว 15 ล้านคน มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเจอน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง

ผลวิจัยชิ้นใหม่ ระบุว่า ทะเลสาบเหล่านี้ถือเป็นภัยธรรมชาติต่อประชาชน ที่อาศัยบริเวณปลายน้ำอย่างมาก เนื่องจากการพังทลายของเขื่อนตามธรรมชาติอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักแบบฉับพลัน โดยผู้ที่อาศัยในภูมิภาคภูเขาสูงของเอเชียและเทือกเขาแอนดีสมีความเสี่ยงสูงสุดต่ออันตรายประเภทนี้ ส่วนพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและทรัพยากรสำหรับรับมือน้อยก็มีความเสี่ยงมากที่สุด

“โทมัส โรบินสัน” วิทยากรอาวุโสของวิทยาลัยโลกและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี กล่าวว่า น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง อาจเกิดขึ้นโดยปราศจากสัญญาณเตือนเมื่อเขื่อนตามธรรมชาติพังลงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนเพื่อลดการสูญเสียชีวิตในอนาคต

โรบินสัน กล่าวเสริมว่า จำนวนและขนาดของทะเลสาบธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2533 และปัจจุบันประชาชน 15 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความเสี่ยง น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบเหล่านี้

โรบินสัน ยังบอกด้วยว่า ประชาชนในภูมิภาคภูเขาสูงของเอเชียเผชิญความเสี่ยงสูงสุดและอาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบธารน้ำแข็งมากสุดโดยเฉลี่ย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้คนราว 1 ล้านคนอาศัยห่างจากทะเลสาบน้ำแข็ง ในระยะ 10 กิโลเมตร พร้อมเสริมว่า การทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนเสี่ยงเพื่อป้องกันภัยพิบัติใหญ่ถือเป็นสิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ทั่วโลกจะพยายามรณรงค์ลดโลกร้อน ซึ่งรวมถึงลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทุกประเภท แต่งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ กลับบ่งชี้ว่า การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ก่อมลพิษ เพิ่มขึ้น 6 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2562-2564

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ตอนนี้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกไปแล้ว โดยมีขยะพลาสติกจำนวนมาก ถูกฝังกลบ หรือถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการบำบัด ในแม่น้ำและมหาสมุทร ประกอบกับกระบวนการผลิตยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

มูลนิธิมินเดอรู ในออสเตรเลีย ระบุว่า แม้การเติบโตของพลาสติกจะชะลอตัวลง แต่การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลบริสุทธิ์ยังไม่ถึงระดับสูงสุด และการใช้วัตถุดิบตั้งต้น ที่นำมารีไซเคิลได้ยังอยู่ในระดับเล็กน้อยมาก จึงทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่วิกฤติขยะพลาสติกจะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ก่อนที่การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะลดลง เมื่อเทียบเป็นรายปี

งานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่าช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จีนขับเคลื่อนความต้องการพลาสติกทั่วโลก ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการห้ามผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบางประเภท เมื่อปี 2562 แต่เป็นแค่ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ 15 ล้านตัน ในช่วงปี 2562-2564

เมื่อปีที่แล้ว จีนระบุในแผนจัดการ การผลิตพลาสติกว่า จะลดการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปริมาณมาก รวมทั้งห้ามผลิตภัณฑ์พลาสติกบางอย่างอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการเติบโตของการผลิตพลาสติกในจีนคาดว่าจะชะลอตัวลง แต่มูลนิธิมินเดอรู กล่าวว่า จีนยังคงมีส่วนในบริษัทชั้นนำ 20 แห่ง ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตพอลิเมอร์บริสุทธิ์จนถึงปี 2570

นักวิจัยหลายคน ระบุว่า พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 137 ล้านตัน ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2564 และ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 17 ล้านตันภายใน ปี 2570

รายงานทั้งสองชิ้นนี้ กำลังบอกเราว่า แม้หลายประเทศจะรณรงค์ลดโลกร้อน ผ่านโครงการต่างๆ แต่อาจต้องมานั่งทบทวนกันอย่างจริงจังว่า สิ่งที่ทำอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ และช่วยให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรืออุณหภูมิโลกลดความร้อนแรงลงบ้างหรือเปล่า ก่อนที่ปัญหาจะรุนแรง จนยากเกินเยียวยา

ที่มา: รอยเตอร์