ภาพรวมตลาด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเดือนมกราคม ช่วงอายุน้อยกว่า 7 ปีปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 6-37bps ในขณะที่รุ่นอายุยาวกว่านี้อัตราผลตอบแทนปรับลดลงตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จากการคาดการณ์ของนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยลงและไม่ต่อเนื่องเหมือนปีที่ผ่านมา
ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 2566 มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25 bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.50% – 4.75% โดยยังคงประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% และจะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน FED ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ดี การชะลอลงของเงินเฟ้อในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ดี แต่ FED ยังต้องการหลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลง ซึ่งการจะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้าหมายได้ จำเป็นที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าปกติ และตลาดแรงงานที่ผ่อนคลายลง นอกจากนี้ ประธาน FED ยังไม่คิดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากปีนี้ยังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แม้ค่อนข้างต่ำ แม้ว่าเงินเฟ้อที่ชะลอลงในสองสามเดือนที่ผ่านมาเป็นข่าวดี แต่เงินเฟ้อภาคบริการไม่รวมค่าเช่าบ้านยังต้องเฝ้าระวัง และตลาดอาจคาดเงินเฟ้อชะลอลงเร็วกว่าที่ FED คาด และยอมรับมีโอกาสดอกเบี้ยจะสูงสุดที่ 5% ได้ หากเงินเฟ้อลดลงเร็ว
ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และคณะกรรมการฯ ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทย
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งยังคงมองว่า กนง.จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่จากนโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีแนวโน้มต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้ง Fed ที่แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 – 3 ครั้ง ซึ่งจะยังคงกดดันการดำเนินนโยบายการเงิน ของ ธปท. ประกอบกับเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังมีความผันผวนสูงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว
Source: ThaiBMA, BBLAM as of 31 Jan 2023
กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นให้ดีกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยง
• ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนมองไปข้างหน้า 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 1.3 – 1.6% ต่อปี
Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต