การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ครบรอบ 1 ปีในวันที่ 24 ก.พ.2566 ยังไม่มีทีท่ายุติเมื่อใด เพราะไม่มีสัญญาณว่า จะมีฝ่ายใดยอมเจรจาหาทางออก และดูเหมือนว่ามาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ จะไม่ได้ผล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเมืองโลกแบบเลือกข้าง ราคาอาหารและพลังงานโลกแพงขึ้น และทำให้ความพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจทั่วโลกยากลำบากขึ้น
เริ่มจากปี 2564 วันที่ 10 พ.ย. สหรัฐฯ ระบุว่า ทหารรัสเซียเคลื่อนไหวผิดปกติ ใกล้พรมแดนติดกับยูเครน ต่อมาวันที่ 28 พ.ย. ยูเครน ระบุว่า รัสเซียส่งทหารเกือบ 92,000 นาย หวังรุกรานยูเครนภายใน ม.ค.-ก.พ.
7 ธ.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ระบุจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมีมาตรการอื่น หากรัสเซียรุกรานยูเครน
17 ธ.ค. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เรียกร้องให้สหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หยุดแผ่อิทธิพลในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต
ปี 2565 วันที่ 3 ม.ค.ไบเดน หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดียูเครน เพื่อหาแนวทางยุติความตึงเครียด และรับปากจะตอบโต้เด็ดขาด หากรัสเซียรุกรานยูเครน
19 ม.ค. สหรัฐฯ มอบงบช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับยูเครน 200 ล้านดอลลาร์
24 ม.ค. นาโตสั่งกองกำลังนานาชาติในยุโรปตะวันออกเตรียมความพร้อม ขณะที่ สหรัฐฯ ส่งทหาร 8,500 นายไปประจำการในยุโรป
22 ก.พ. ปูติน รับรองการประกาศเอกราชของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 2 กลุ่ม สั่งให้ทหารรัสเซียเข้ารักษาสันติภาพในพื้นที่
24 ก.พ. ปูตินประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครนด้วยการทิ้งระเบิดถล่มกรุงเคียฟ
มี.ค.ทั่วโลกใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหนักขึ้น ทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจเสียหายหนัก และเศรษฐกิจโลกปรับเปลี่ยนรูปแบบเพราะสงครามเพิ่มความไม่แน่นอนครั้งใหม่ให้แก่ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจาก โควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เกิดวิกฤติค่าครองชีพที่เกิดจากเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ อุปสรรคการค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็ว การบุกโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานมากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่โลกต้องเผชิญอยู่แล้ว
“โรเบิร์ต คาห์น” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับโลกของยูเรเซีย กรุ๊ป มองว่า “ปัจจัยลบที่เป็นอุปสรรคการเติบโตของเศรษฐกิจมีหลายด้าน รวมถึงความตื่นตระหนกสงคราม ดีมานด์และราคา บวกกับโควิด-19 และการตัดสินใจด้านนโยบายอื่นๆ”
สงครามสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจหดตัว 1 ใน 3 ขณะที่การคว่ำบาตรเริ่มทำให้รัสเซียขาดรายได้จากภาคพลังงานและการส่งออกอื่น แต่ยากที่จะประเมินผลกระทบต่อส่วนอื่นของโลกในเชิงปริมาณ
“ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอในปีนี้ ก่อนฟื้นตัวในปีหน้า แต่การเติบโตยังอ่อนแอ เพราะการต่อสู้กับสงครามเงินเฟ้อและผลกระทบจากการต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยาย 2.9% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค.ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 2.7% แต่ยังต่ำกว่าการเติบโตในทศวรรษก่อนมีโควิด-19 (2543-2562) ที่โตเฉลี่ย 3.8% ส่วนปี 2567 คาดว่าขยายตัว 3.1%
องค์การการค้าโลก (WTO) ลดการคาดการณ์การค้าโลกปี 2566 เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบอื่น เช่น เงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดยการค้าโลกปีนี้จะชะลอลง 1% อยู่ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 3.2% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
นักเศรษฐศาสตร์ของ WTO กล่าวว่า แม้การค้าโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เดินหน้าได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่เพราะมีวิกฤติเพิ่มทั้งสงครามในยูเครน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานแพง และการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ การค้าโลกชะลอตัว และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ที่มา: รอยเตอร์