กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)
กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้น 25% เพื่อการเลี้ยงชีพ (B25RMF) กองทุนเปิดบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BFLRMF)
ตราสารหนี้
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นถึงระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 21 43 bps. จากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลออก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
• คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps จาก 1.25% เป็น 1.50% เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้้นสูงในรอบหลายปี โดยในเดือนมกราคมมีการประชุมของธนาคารกลางหลักๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
• ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 25 bps สู่ระดับ 4.50-4.75% เป็นการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่ได้ปรับขึ้นในอัตรา 50 bps ในการประชุมครั้งก่อนและในอัตรา 75 bps ในการประชุม 4 ครั้งก่อนหน้า โดยยังคงย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีความเหมาะสม เพื่อให้อยู่ในระดับที่จำกัดเศรษฐกิจเพียงพอในการนำพาเงินเฟ้อให้ชะลอกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยแนวโน้มของดอกเบี้ย หรือ Dot plot บ่งชี้ว่า Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแตะระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ 5.00-5.25% และคงที่ระดับดังกล่าวตลอดจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย
• แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งยังคงมองว่า กนง.จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่จากนโยบายการเงินตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีแนวโน้มต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้ง Fed ที่แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 – 3 ครั้ง ซึ่งจะยังคงกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ประกอบกับเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังมีความผันผวนสูงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว
ตราสารทุน
• ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นแนวโน้มต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ทั้งในส่วนของตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ด้วยความคาดหวังว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นใกล้จะสิ้นสุดลง และการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนจะเป็นแรงช่วยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งการประชุม FOMC ล่าสุดในวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% นั้นเป็นไปตามที่ตลาดคาด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณที่ดีและไม่ดีปะปนกัน โดยในภาคการจ้างงานนั้นนับว่าค่อนข้างดี ขณะที่ ดัชนีชี้วัดทางด้านธุรกิจภาคอุตสาหกรรมยังหดตัวลงมากกว่าคาด ทำให้ความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
• ทั้งนี้ Valuation ของหุ้นในตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ อาจจะมีความตึงตัวไปบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั้น แม้ราคาจะนับว่าไม่แพง แต่ด้วยผลประกอบการล่าสุด พบว่า หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีหลายตัวมีสัญญาณการชะลอตัวมากขึ้นของรายได้ ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการประเมินมูลค่าในอนาคต ส่วนหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นมาเร็วก็อาจจะมีการถูกขายทำกำไรบ้าง เนื่องจากราคาหุ้นสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเร็วเกินไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดต่างประเทศไม่ได้เป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้ในระยะสั้น
• ด้านตลาดหุ้นไทย แม้จะไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนักตั้งแต่ต้นปีนี้ ด้วย Valuation ที่ตึงตัวไปบ้างในบางธุรกิจที่เกี่ยวกับการเปิดประเทศ ซึ่งราคาหุ้นขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังไปแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่นักลงทุนยังคงมีความหวังกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะช่วยให้ธุรกิจในบางกลุ่มสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดได้ ประกอบจากการคาดการณ์ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งมีมุมมองว่า
• เศรษฐกิจไทยนั้นจะเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดความผันผวนในด้านลบ จึงคาดว่า SET Index น่าจะอยู่ในลักษณะ Side-ways ไปอีกสักพักหนึ่ง ประกอบกับค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติลดปริมาณการซื้อต่อเนื่องลง
• กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นตัวที่ยังมี Valuation ไม่ได้สูงมากนัก เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจธนาคาร เป็นต้น
พอร์ตการลงทุนไตรมาสที่ผ่านมา
• B-FLEX : กองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ ในพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีเป็นส่วนใหญ่ โดยลดสัดส่วนหุ้นกู้ อายุเฉลี่ยของพอร์ต (Portfolio duration) ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และกองทุนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น โดยลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มเดินทางขนส่ง ธนาคาร สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ อาหาร และมีเดีย โดยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มพาณิชย์ และอิเล็กโทรนิกส์ และลดน้ำหนักกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มโทรคมนาคม
• B-ACTIVE : ในไตรมาส 4 กองทุนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็น 31% จาก 56% ณ สิ้นไตรมาสก่อน และเพิ่มสัดส่วนในพันธบัตรระยะสั้น โดยลดสัดส่วนหุ้นในกลุ่มมีเดีย ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ไฟแนนซ์ และ สื่อสาร โดยได้เข้าลงทุนเพิ่มในหุ้นกลุ่ม พลังงาน ยานยนต์ และ พาณิชย์
• B25RMF : กองทุนเพิ่มน้ำหนักพันธบัตรไม่เกิน 1 ปี และลดน้ำหนักพันธบัตรและหุ้นกู้อายุปานกลาง-ยาว ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของพอร์ต (Portfolio duration) ลดลง ในส่วนของหุ้น กองทุนเพิ่มน้ำหนักในหุ้น กลุ่มพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมี และธนาคาร โดยลดน้ำหนักในหุ้นกลุ่ม สื่อสาร ไฟแนนซ์ และประกันชีวิต
• BFLRMF : กองทุนลดน้ำหนักพันธบัตร 1-3 ปี และหุ้นกู้ โดยเพิ่มน้ำหนักพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี ในส่วนของหุ้น กองทุนเพิ่มน้าหนักในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมี มีเดีย และธนาคาร โดยลดน้ำหนักในหุ้นกลุ่มอาหาร พลังงาน ประกันชีวิต พาณิชย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มโทรคมนาคม
Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุนในกองทุน RMF/SSF ก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต