บริษัทสหรัฐฯ มองจีนไม่ใช่แหล่งน่าลงทุนอีกต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวและมีข้อพิพาททางการเมืองกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในขณะนี้
ผลสำรวจ จัดทำโดยสมาคมหอการค้าอเมริกันในประเทศจีน (AmCham China) ระบุว่า บริษัทสหรัฐฯ ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 25 ปีของสมาคมหอการค้าอเมริกันที่บริษัทผู้เข้าร่วมการสำรวจต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “จีนไม่ได้อยู่ในอันดับ 1 ใน 3 จุดหมายปลายทางด้านการลงทุนยอดนิยมที่สุดของบริษัทสหรัฐฯ อีกต่อไป”
ผลสำรวจระบุว่า บริษัทสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กำลังทบทวนแผนการลงทุนที่ระดับเดิม หรืออาจจะน้อยลงในประเทศจีน แต่บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีแผนการที่จะย้ายฐานธุรกิจออกจากจีนโดยสิ้นเชิง
“ปี 2565 เป็นปีที่บริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอเมริกันต้องเผชิญกับความท้าทายมากที่สุด เนื่องจากต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และความพยายามในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของทั้งจีนและสหรัฐฯ ” “คอล์ม แรฟเฟอร์ตี” ประธาน AmCham China กล่าว
นอกจากนี้ 66% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจมองว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ ขณะที่ 65% ระบุว่า พวกเขาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะยังคงเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างชาติต่อไปอีกหรือไม่ โดยบริษัทสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการต้อนรับจากจีนน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจนักธุรกิจอเมริกันของแอมแชม ได้รับการเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกับที่ “มาร์ธา เดลกาโด” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เม็กซิโก ระบุว่า โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่บริษัทเทสลา อิงค์จะสร้างขึ้นในเม็กซิโกนั้น ต้องใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการประมาณการต้นทุนของโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก
“เรานำเงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์มายังเม็กซิโกผ่านการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยการลงทุนดังกล่าวมีขึ้นหลังผ่านกระบวนการทำงานนาน 14 เดือน” นางเดลกาโดกล่าว พร้อมเสริมว่า “โครงการนี้ไม่ใช่โครงการเดียวที่เราร่วมมือกับเทสลา”
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เดลกาโดได้เดินทางเยือนเมืองออสติน รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมงานพบปะนักลงทุนของเทสลาในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยคาดการณ์ว่า เทสลาจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสร้างโรงงานในเม็กซิโกที่งานดังกล่าว
ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์แห่งเม็กซิโก ระบุเมื่อวันอังคาร (28 ก.พ.) ว่า เทสลาจะสร้างโรงงานในเมืองมอนเตร์เรย์ของรัฐนวยโบเลออน ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัฐเท็กซัส แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดเพิ่มเติม
นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า กระทรวงการค้ามาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียได้อนุมัติคำขอของบริษัทเทสลา อิงค์ เพื่อนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเทสลาจะเปิดสำนักงานใหญ่ในมาเลเซีย พร้อมทั้งเปิดตัวศูนย์บริการและติดตั้งเครือข่ายซูเปอร์ชาร์จเจอร์ ซึ่งเป็นสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า มาเลเซียกำลังมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาระบบนิเวศยานพาหนะไฟฟ้าและตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่สาธารณะอย่างน้อย 10,000 แห่งภายในปี 2568
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังเผยผลการจัดอันดับมหาเศรษฐีของโลกล่าสุดที่บ่งชี้ว่า อีลอน มัสก์ ทวงคืนตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้อีกครั้ง หลังจากหุ้นของบริษัท เทสลา ของเขาพุ่งสูงขึ้น 100%
ดัชนีมหาเศรษฐีพันล้านของบลูมเบิร์ก จัดอันดับให้ มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเทสลาและทวิตเตอร์ รั้งตำแหน่งบุคคลที่่ร่ำรวยที่สุดของโลก โดยมีทรัพย์สินสุทธิ 187,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากหุ้นเทสลาทะยานไม่หยุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. อยู่ที่ 207.63 ดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ (27 ก.พ.) เพิ่มขึ้น 100% หลังเคยร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 108.10 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566
ราคาหุ้นเทสลาที่พุ่งขึ้นทำให้มัสก์มีทรัพย์สินแซงหน้า เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ ซีอีโอ ของ LVMH เจ้าของแบรนด์ลักชัวรี “หลุยส์ วิตตอง” ที่มีทรัพย์สิน 182,000 ล้านดอลลาร์ ที่เพิ่งแย่งตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 จากมัสก์เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ในช่วงที่หุ้นเทสลาร่วงหนัก
นอกจากเทสลาที่ประกาศลงทุนในเม็กซิโกแล้ว บริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ให้แก่แอ๊ปเปิ้ล อย่าง โกเออร์เทก อิงค์ (GoerTek Inc) ผู้ผลิต Airpod ให้กับแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ก็ระบุว่า บรรดาซัพพลายเออร์จีนของบริษัทแอ๊ปเปิ้ลมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ไว้อย่างมาก เพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหาตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ
นายคาซุโยชิ โยชินางะ รองประธาน โกเออร์เทก กล่าวว่า โกเออร์เทกเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าจำนวนมากที่กำลังพิจารณาหาทำเลที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ นอกเหนือไปจากจีน ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของบริษัทโกเออร์เทก
ทั้งนี้ โกเออร์เทกได้ทุ่มเม็ดเงินเบื้องต้น 280 ล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนาม ขณะเดียวกันก็พิจารณาขยายฐานการผลิตในอินเดียด้วย
นายโยชินางะ ระบุด้วยว่า บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กดดันอย่างหนักให้ผู้ผลิต เช่น โกเออร์เทก เฟ้นหาฐานการผลิตทางเลือก
“ตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา ผู้คนจำนวนมากจากฝั่งลูกค้าแวะเวียนมาหาเราเกือบทุกวัน โดยประเด็นหลัก คือ ถามว่าเมื่อไรเราจะย้ายฐานการผลิต” นายโยชินางะ กล่าว