บริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นประกาศขึ้นค่าแรงพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปี โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจากับสหภาพแรงงาน และเพื่อตอบรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ที่เรียกร้องให้ภาคเอกชนปรับขึ้นค่าตอบแทนให้สอดรับกับสภาวะเงินเฟ้อ
ค่าแรงในญี่ปุ่นแทบจะไม่มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี อันมีปัจจัยมาจากการอ่อนค่าของเงินเยนและราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้นายกรัฐมนตรี คิชิดะ พยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
มาตรการดังกล่าวจะยั่งยืนขนาดไหนเป็นสิ่งที่ต้องรอดู แต่จากผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 33 คน โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Economic Research Center – JERC) คาดว่า ภายหลังการเจรจากับสหภาพแรงงานในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือ “ชุนโตะ” (Shunto) ปิดฉากลงในวันนี้ (15) บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นจะประกาศขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ย 2.85%
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าการปรับขึ้นเงินเดือน 2.2% ในปีที่ผ่านมา และยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 15 ปี
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ 4.1% ซึ่งยังสูงกว่าเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรง ฮิซาชิ ยามาดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยแห่งญี่ปุ่น (Japan Research Institute) จึงมองว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มอีกอย่างน้อย 3% ภายในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อให้จะบรรลุตามเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มุ่งควบคุมเสถียรภาพด้านราคา (price stability) อยู่ที่ 2%
ฮิตาชิ ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นประกาศขึ้นเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย 3.9% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากอัตรา 2.6% ในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ชัดเจนว่านโยบายขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงบริษัทรายย่อยซึ่งมีการว่าจ้างพนักงานราว 7 ใน 10 ของญี่ปุ่นด้วยหรือไม่
สัปดาห์ที่แล้ว สหภาพแรงงานหลักในญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยการปรับขึ้นค่าแรงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สหภาพแรงงานโตโยต้า (Toyota) และฮอนด้า (Honda) ก็ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้บริษัทปรับขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี
ที่มา : รอยเตอร์