ซาอุดีอาระเบียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 เม.ย.) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเป็นอย่างมาก ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า การหั่นกำลังการผลิตครั้งนี้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ขณะที่สหรัฐฯ คัดค้านการกระทำดังกล่าวโดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ
จากการคำนวณของรอยเตอร์ ข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง รวมทั้งสิ้น 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเท่ากับ 3.7% ของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของทั้งโลก โดยกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (OPEC) รวมถึงรัสเซียและประเทศพันธมิตรอื่นๆ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันร่วงลงสู่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนจากความกังวลวิกฤตการณ์ภาคธนาคารทั่วโลกจะฉุดความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ การดำเนินการต่อไปของกลุ่มโอเปกพลัสที่จะช่วยสนับสนุนตลาดอยู่เหนือการคาดหมาย หลังจากที่หลายฝ่ายมีมุมมองต่อขาลงของราคาน้ำมัน และทำให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ
ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปก กล่าวว่า จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจะเป็นมาตรการที่ป้องกันไว้ก่อน โดยมุ่งเป้าหมายที่จะสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน
ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า การประกาศปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด โดยโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุอย่างชัดเจนว่า เขาไม่คิดว่าการหั่นกำลังการผลิตน้ำมันจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม ในขณะที่ตลาดน้ำมันปัจจุบันมีความไม่แน่นอน
การลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ไปจนกระทั่งสิ้นปี 2566 เอกสารที่แถลงอย่างเป็นทางการเปิดเผยว่า อิรักจะลดการผลิตน้ำมันลง 211,000 บาร์เรลต่อวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จะลดการผลิตลง 144,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ คูเวตประกาศปรับการผลิตลง 128,000 บาร์เรลต่อวัน โอมานจะปรับลดการผลิตลง 40,000 บาร์เรลต่อวัน แอลจีเรียปรับลดการผลิตลง 48,000 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงคาซัคสถานก็จะปรับลดการผลิตน้ำมันลง 78,000 บาร์เรลต่อวัน
ขณะที่ รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัสเซียจะขยายเวลาของมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมัน จำนวน 500,000 บาร์เรลต่อวัน ไปจนกระทั่งสิ้นปี 2566 โดยรัสเซียประกาศมาตรการดังกล่าวฝ่ายเดียวเมื่อเดือน ก.พ.ปี 2565 ตามมาด้วยการเริ่มคุมราคาน้ำมันจากชาติตะวันตก
หลังจากรัสเซียออกมาตรการลดกำลังการผลิตฝ่ายเดียว เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า แนวร่วมพันธมิตรระหว่างชาติสมาชิกกลุ่มโอเปก อ่อนแอลง จนกระทั่งเกิดความเคลื่อนไหวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 เม.ย.) แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือยังคงเข้มแข็ง
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวทะยานขึ้นถึง 8% ทันทีที่เปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (4 เม.ย.) หลังจากกลุ่มโอเปกพลัสประกาศหั่นกำลังการผลิตลง 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน นางทีน่า เถิง นักวิเคราะห์ บริษัท ซีเอ็มซีมาร์เก็ต กล่าวว่า แผนการของกลุ่มโอเปกพลัสที่จะลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นยาวนานต่อไปนั้น อาจจะผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง จากเหตุผล คือ การเปิดประเทศของจีน และการลดกำลังการผลิตของรัสเซียเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และนางทีน่ายังคงกล่าวต่ออีกว่า การลดการผลิตน้ำมันจะเป็นการพลิกกลับด้านของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น
ด้านโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจของสหรัฐฯ ระบุว่า ความต้องการน้ำมันในครั้งนี้จะสูงขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับช่วง ต.ค.ปีที่แล้วที่มีการลดกำลังการผลิต เนื่องจากจีนฟื้นตัวแข็งแกร่ง และทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อีก 5 ดอลลาร์สหรัฐ มาที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้
ที่มา: ซีเอ็นบีซี