สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวมานานกว่า 3 ปี ในความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดูแลประชาชนของประเทศที่ปรากฎผู้เสียชีวิตจากโควิดดังกล่าวกว่า 1 ล้านราย
ทำเนียบขาว กล่าวว่า ไบเดนได้ลงนามอนุมัติร่างกฎหมายที่สภาครองเกรสได้รับรองไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเนื้อความของกฎหมายกล่าวถึงการสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งจะหมายถึงการยุติการส่งเงินสนับสนุนจำนวนมากไปกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงมาตรการฉุกเฉินอื่นๆ ที่ใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 หรือช่วงต้นของการแพร่ระบาดของหายนะทางสาธารณสุขทั่วโลกนี้ ในการปลดเปลื้องสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลกจากเงื้อมมือของโควิด-19
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือ ผลกระทบจากการประกาศสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินนี้ต่อประเด็นชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกที่มีความตึงเครียดในปัจจุบัน จากการที่ทางการสหรัฐฯ ประสบปัญหาในการจัดการกับกระแสของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารและผู้ขอลี้ภัยจำนวนมากมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ใช้กฎที่เรียกว่า มาตรา 42 (Title 42) ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 อย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในเปิดรับผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร โดยทางการสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะยุติการใช้กฎหมายนี้ เพื่อบีบให้ฝ่ายบริหารต้องใช้กลไกทางกฎหมายที่แตกต่างออกไป หากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้ามาของผู้อพยพจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาว กล่าวว่า คาดว่าสหรัฐฯ จะสิ้นสุดการใช้กฎหมายดังกล่าวในวันที่ 11 พฤษภาคม
แม้ว่า สหรัฐฯ จะสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านโควิดอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลของไบเดนกำลังดำเนินงานผลิตวัคซีนโควิดรุ่นต่อไปและมาตรการอื่นๆ เพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสในอนาคต
ที่มา: เอเอฟพี