BF Economic Research Team
- เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2018 เติบโต 4.8% YoY หรือ 2.0% QoQ sa สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 20 ไตรมาสเมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY)
- การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายรัฐบาล การลงทุนรวม ต่างเร่งตัวขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ดี
- สศช. ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2018 ขึ้นเป็น 4.2-4.7%
เศรษฐกิจประเทศไทยไตรมาส 1/2018 ขยายตัวถึง 4.8% YoY เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเติบโต 4.0% YoY และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.0% YoY นับว่าเป็นการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส ขณะที่หากเทียบเป็นรายไตรมาสแล้ว GDP ขยายตัว 2.0% QoQ sa เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 0.5% QoQ sa
เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่
1) การบริโภคภาคเอกชน เร่งตัวขึ้น 3.6% YoY ตามรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นและมีความกระจายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดสินเชื่อภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นมา โดยการใช้จ่ายหมวดบริการและสินค้ากึ่งคงทนเร่งขึ้น 4.9% YoY และ 2.4% YoY ตามลำดับ ส่วนประเภทสินค้าคงทนและไม่คงทน ก็ขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ 9.4% YoY และ 2.0% YoY ตามลำดับ
2) การใช้จ่ายภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.9% YoY สืบเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำที่สูงขึ้น หลังค่าตอบแทนแรงงานขยายตัว 2.1% YoY และรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 4.9% YoY
3) การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.0% YoY เป็นการกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ประกอบด้วยการลงทุนรัฐวิสากิจที่ขยายตัว 11.5% YoY จากการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การลงทุนรัฐบาลยังหดตัว -0.3% YoY ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 3.1% YoY จากทั้งหมวดเครื่องจักรที่ขยายตัว 3.1% YoY และหมวดก่อสร้างที่ขยายตัว 3.4% YoY นับเป็นแนวโน้มขาบวกในอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขยอดขอส่งรับเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา
4) มูลค่าส่งออกขยายตัว 9.9% YoY จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาดสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.0% YoY และราคาเพิ่มขึ้น 4.7% YoY ซึ่งการส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เติบโตได้ดี แต่การส่งออกสินค้าเกษตรบางประเภท เช่น ยางพาราและน้ำตาล ยังหดตัวลง
ก่อนหน้านี้กองทุนบัวหลวงเคยคาดการณ์ GDP ปี 2018 ไว้ที่ 4.1% แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังที่ได้นำเสนอไปข้างต้น เราจึงกำลังพิจารณาปรับประมาณการ GDP สำหรับปีนี้ขึ้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2018 เพิ่มจาก 3.6-4.6% เป็น 4.2-4.7% เนื่องจาก (1) ราคาสินค้าในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นจะเข้าสนับสนุนยอดส่งออกอย่างต่อเนื่อง (2) แรงหนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (3) การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง (4) ฐานรายได้ของประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน