ภาพรวมตลาด
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนเมษยน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-8 bps. ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 9 -18 bps. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี ตามคาด ผลจากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งสัญญาณโทน Hawkish ทำให้ตลาดเพิ่มน้ำหนักโอกาสที่จะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.00% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. 2566 กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%
ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 25 bps สู่ระดับ 5.00-5.25% ตามคาด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐอเมริกาที่กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง รวมถึงปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ โดยเฟดยังคงเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2 ในระยะยาว ทำให้สัญญาณที่ส่งออกมาไม่ชัดเจนว่า ครั้งนี้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายหรือไม่ ล่าสุด แพคเวสต์ แบงคอร์ป บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า ธนาคารกำลังสำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ โดยได้ติดต่อผู้ที่อาจเป็นหุ้นส่วน หรือนักลงทุนเพื่อเจรจา ข่าวนี้ยิ่งสร้างความกังวลต่อระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกามากขึ้นไปอีก
แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทย
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะปรับตัวตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 2.00% จากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีมุมมองห่วงปัญหาเงินเฟ้อและมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง สาหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังมีความผันผวนตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าความผันผวนจะน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา จากการที่เฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)
• ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนมองไปข้างหน้า 1 ปี หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 1.5 – 2.4% ต่อปี
Disclaimer: เอกสารนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทฯ อาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มิได้มีวัตถุประสงค์ชักชวน ชี้นำ ให้ความเห็น
หรือคำแนะนำในการตัดสินใจลงทุนทางการเงิน หรือการตัดสินใจในทางธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณจากการใช้ข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของเอกสารฉบับนี้
ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุน ในกองทุน RMF/SSF ก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต