ผลการสำรวจ “มาร์เก็ต ไลฟ์ พลัส” ของบลูมเบิร์ก พบว่า นักลงทุนประเมิน “หุ้นบิ๊กเทค” มีแนวโน้ม “เอ้าท์เพอร์ฟอร์ม” ตลาดปีนี้ ท่ามกลางกระแส “สภาวะเศรษฐกิจถดถอย” อื้ออึง
Key Points
- ตลอดทั้งปี 2566 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- กระแสการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอื้อ
- กว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ปัจจัยด้าน “การทำกำไร”มีผลต่อการสร้างผลตอบแทนของหุ้นอย่างมาก
จากผลสำรวจของ มาร์เก็ต ไลฟ์ พลัส (Markets Live Pulse) ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า ตลอดทั้งปี 2566 หุ้นกลุ่ม “บิ๊กเทค” หรือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ ผลักให้บรรดานักลงทุนทยอยเข้าซื้อหุ้นมีผลกำไรเติบโต ท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบาก
โดยผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม 41% จากทั้งหมด 492 คน ให้ความเห็นว่า ผลตอบแทนสูงสุดในปีนี้มาจากการซื้อ “หุ้นคุณภาพ” ที่เน้นความสามารถในการทํากําไร และขายหุ้นที่ไม่สามารถทำผลกำไรได้ออกไป
ทั้งนี้ หุ้นบิ๊กเทคเหล่านั้น รวมถึงการลงทุนระยะยาวในบริษัทเทคโนโลยี อย่าง แอปเปิล (Apple) และ ไมโครซอฟต์ (Microsoft) ซึ่งที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดยอมรับการเติบโต และหลีกเลี่ยงหุ้นที่อ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจ
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า บรรดานักลงทุนกำลังก้าวเข้าสู่เดือนใหม่ ที่แแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและความเป็นไปของเศรษฐกิจยังคงผันผวน จากเหตุผลข้างต้นจึงทำให้บริษัทที่มีกระแสเงินสดแข็งแกร่งและการเติบโตของรายได้ที่มีแนวโน้มสดใส น่าสนใจมากขึ้น แม้ว่าจะแลกมาด้วยราคาที่สูงมากก็ตาม
โดยดัชนีแนสแด็ก 100 (Nasdaq 100) ซึ่งมีสัดส่วนการในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจำนวนมากกลับสดใสอีกครั้ง จากอานิสงส์เรื่องกระแสการเข้ามาของระบบปัญหาประดิษฐ์ (AI)
“ไม่มีใครอยากเสี่ยงหรอก” จีน่า มาร์ติน อดัมส์ (Gina Martin Adams) หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านหุ้นของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) กล่าว พร้อมเสริมว่า “เหล่านักลงทุนกำลังชื่นชอบบรรดาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนในตลาดหุ้นมาเป็นเวลานาน”
โดยจากผลการสำรวจพบว่า บรรดานักลงทุนมองว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้หุ้นของบริษัทหนึ่งๆ จะสร้างผลตอบแทนสูงสุดในปี 2023 คือ “คุณภาพและความสามารถในการทำกำไร” อยู่ที่ 40.9%
นอกจากนี้ นักกลยุทธ์บางท่านก็ปรับมุมมองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในภาวะขาขึ้น (Bullish) เช่นเดียวกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซิตี กรุ๊ป (Citigroup) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการเข้ามาของเอไอ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ชะลอตัว
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เหล่านักลงทุนแห่เข้าซื้อหุ้นเทคโนโลยีทําให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยอยู่ในระดับที่แพงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นในดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) โดย นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินค่าหุ้น (Valuation) ใกล้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022
ขณะที่ ผู้ตอบแบบสํารวจเชื่อว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะเคลื่อนไหวได้ดีกว่าภาคส่วนอื่น (Outperform) แต่ “มีได้ก็ต้องมีเสีย” คริสโตเฟอร์ เคน (Christopher Cain) นักยุทธศาสตร์ด้านความเสมอภาคเชิงปริมาณของ บีไอ ยูเอส (BI US) กล่าว พร้อมเสริมว่า “หลายครั้งนักลงทุนนำปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดใส่เข้าไปในราคาแล้ว (Price In) “
ส่วน จูเลียน เอมานูเอล (Julian Emanuel) หัวหน้าฝ่ายทุนและนักยุทธศาสตร์เชิงปริมาณ ที่เอเวอร์คอร์ ไอเอสไอ (Evercore ISI) ระบุว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และตลาดตราสารทุนอาจย่อตัวลงก่อนแล้วจึงจะกลับขึ้นมาอีกครั้ง”
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 42% มองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสําหรับตลาดหุ้นในปีหน้า ตามความเสี่ยงจากด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ 23% ท่ามกลางสภาวะปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง กอปรกับสภาวะสินเชื่อตึงตัว รวมทั้ง ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: บลูมเบิร์ก