“ธนาคารกลางยุโรป” ออกโรงเตือน “ธนาคารกลางญี่ปุ่น” หากดำเนินนโยบายทุบเงินเฟ้อแบบนี้ต่อไป นักลงทุนญี่ปุ่นส่อเทขาย พันธบัตรยุโรปหนัก เสี่ยงกระทบราคาพันธบัตรโลก
Key Points
- นักลงทุนเอเชียแห่ขายบอนด์ยุโรป ทุบสถิติในรอบ 17 ปี
- กองทุนญี่ปุ่นซื้อบอนด์ยุโรปน้อยสุดเป็นประวัติการณ์
- “อีซีบี” เตือน หาก “บีโอเจ” ยังคงดำเนิน ‘Normalization Policy’ ต่ออาจทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเทขายบอนด์ยุโรปหนัก
โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ มักจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ “กิจการภายใน” ของประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (1 มิ.ย.) ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกโรงเตือน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เกี่ยวกับ “ความเสี่ยงด้านตลาดตราสารหนี้” จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของบีโอเจ ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางปริมาณเงินเยนที่ไหลออกจากสินทรัพย์ในภูมิภาคแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยหากอ้างอิงตามข้อมูลซึ่งย้อนกลับไปถึงปี 2548 พบว่า ในปี 2565 บรรดานักลงทุนจากประเทศในภูมิเอเชียขายพันธบัตรยุโรปด้วยจำนวนมากที่สุดที่ 5.4 ล้านล้านเยน หรือ 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.28 ล้านล้านบาท) ขณะที่ กองทุนในญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อสุทธิจนถึงปีนี้เพียง 81,000 ล้านเยน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในไตรมาสแรก ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
โดย อีซีบี ระบุผ่านรายงาน ไฟแนนเชียล สเตบิลิตี รีวิว (Financial Stability Review) ซึ่งเผยแพร่ทุก 2 ปี ว่า “การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ อาจเข้าไปทดสอบความยืดหยุ่นของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก” พร้อมกล่าวเสริมว่า “การดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อปรับให้สภาพเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะปกติ” (Policy Normalization) อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญในตลาดการเงินโลก รวมถึงตลาดตราสารหนี้ในสหภาพยุโรป (EU)”
ทั้งนี้ ประเด็นที่ อีซีบี ต้องการสื่อสาร คือ ตลาดตราสารหนี้ยุโรปที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดานักลงทุนชาวญี่ปุ่น อยู่ในช่วงเผชิญสภาวะขาดทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ป้องกันความเสี่ยง (Hedge) จากค่าเงินเยนที่ผันผวน โดยพันธบัตรของฝรั่งเศส ชนิดมาตรฐาน อายุ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนติดลบประมาณ 0.7% สำหรับนักลงทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้วยเงินเยน ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรเทียบเท่าให้ผลตอบแทนติดลบ 1.3%
อัตราผลตอบแทนข้างต้นถูกโจมตีได้อย่างง่ายดาย แม้โดยพันธบัตร ชนิด 10 ปีของบีโอเจ ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 0.5% ซึ่งเน้นเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางก็ตาม
ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่ยังทุบไม่ลง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า ในที่สุด บีโอเจ จะมีทางเลือกไม่มากนอกจากต้อง เข้าร่วมกับเพื่อนร่วมชาติในการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่จะทำให้ กระแสเงินสดของญี่ปุ่น ไหลออกจากตลาดโลกไปสู่ประเทศต้นทางมากขึ้นเท่านั้น
โดย อีซีบี เตือนเกี่ยวกับ “ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย” ของญี่ปุ่น ซึ่งจะกระทบการซื้อขายหลักทรัพย์ และกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อนำเงินกลับเข้าญี่ปุ่น ที่สำคัญการแห่ขายพันธบัตรยุโรป อย่างกะทันหันอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินทรัพย์ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน สึโยชิ อูเอโนะ (Tsuyoshi Ueno) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย เอ็นแอลไอ สัญชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า
“บีโอเจเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก และการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมจะทำให้เกิดดาวน์ไซด์ต่อราคาพันธบัตรทั่วโลก” พร้อมกล่าวเสริมว่า “เรามักไม่ค่อยเห็นข้อความแสดงความกังวลต่อนโยบายของธนาคารกลางเพื่อทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะปกติ หรือ Normalizartion ในลักษณะนี้จากอีซีบี และธนาคารกลางทั่วโลกมากนัก”
ที่มา: บลูมเบิร์ก