จีนผงาดอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ผูกขาดห่วงโซ่อุปทาน

จีนผงาดอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ผูกขาดห่วงโซ่อุปทาน

จีนมาแรงแซงหน้าสหรัฐฯ และอียูหลายขุม บนเส้นทางการแข่งขันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เหลือเป็นศูนย์ ส่งผลให้จีนยืนหนึ่งด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่ต่างชาติต้องพึ่งพา

ทุ่งกังหันลมในเมืองอี้ว์เหมิน มณฑลกานซูทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน – ภาพ : ซินหัว

บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ หน่วยงานวิจัยด้านพลังงานสะอาด ปรับประมาณการว่า จีนจะเพิ่มการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2566 อีกเกือบ 3 เท่าจากเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งมากกว่าในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันพบว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น กว่า 1 ใน 3 เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เปรียบเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์คันใหม่บนแดนลุงแซมเดือนเดียวกัน ปรากฏว่า รถไฟฟ้าขายได้เพียงร้อยละ 4

บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ ยังระบุว่า เมื่อปีที่แล้วจีนลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนในด้านนี้ทั้งหมดในโลก เป็นมูลค่า 546,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าที่สหภาพยุโรป (อียู) ลงทุนจำนวน 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 2.5 เท่า และมากเกือบ 4 เท่าที่สหรัฐฯ ลงทุนจำนวน 141,000 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของจีนสามารถก้าวผงาดบนเวทีโลก ทั้งในด้านการผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยที่ไม่ต้องอาศัยการช่วยประคับประคองจากรัฐบาลปักกิ่งอีกต่อไป

บาร์รอนส์ (Barron’s) สื่อการเงินของอเมริการายงานเมื่อปี 2563 ว่า “จีนได้กลายเป็นจุดศูนย์ถ่วงสำหรับตลาดพลังงานในโลกไปแล้ว” และจนถึงตอนนี้กำลังการผลิตและอิทธิพลด้านพลังงานของจีนในโลกยังพุ่งกระฉูดไม่หยุด

ความมั่นคงด้านพลังงานและอิทธิพลในตลาดโลกของจีนนับวันมีแต่จะแข็งแกร่งขึ้นทุกที ผลจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคพลังงาน เช่น โครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) และการปล่อยกู้ให้รัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่ชาติกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา และแถบละตินอเมริกา

จากรายงาน มุมมองด้านเทคโนโลยีพลังงานปี 2023 ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยจีนมีกำลังการผลิตอย่างน้อยๆ ร้อยละ 60 ในโลกสำหรับเทคโนโลยีการผลิตสินค้าจำนวนมาก เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ ระบบลม และแบตเตอรี่ และมีกำลังการผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์ร้อยละ 40

ดังนั้น แม้สหรัฐฯ และยุโรปจะพยายามสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด แต่การผูกขาดห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานสะอาดของจีนทำให้ขณะนี้บริษัทของสหรัฐฯ และยุโรปยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนการผลิตจากจีน ซึ่งมีราคาถูกกว่ามากและมีความน่าเชื่อถือไม่น้อยอีกด้วย โดยหากสหรัฐฯ และยุโรปจะสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วน เช่น แผงโซลาร์ และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเองต้องใช้เงินและใช้เวลาอีกหลายปี

จีนเป็นชาติผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดราวร้อยละ 30 ในโลก แต่บลูมเบิร์กระบุว่า ความคึกคักด้านพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้าบนแดนมังกรเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของจีนกำลังคืบใกล้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศจะลดลง ซึ่งอาจมาถึงอย่างเร็วสุดในปีหน้า

ที่มา : Oilprice.com