เยลเลน ชี้ความเสี่ยง รีเซสชั่น ฮวบ ด้าน ‘พาวเวล’ คงกรอบเงินเฟ้อเดิมที่ 2%

เยลเลน ชี้ความเสี่ยง รีเซสชั่น ฮวบ ด้าน ‘พาวเวล’ คงกรอบเงินเฟ้อเดิมที่ 2%

“เจเน็ต เยลเลน” ยืนยันความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะถดถอยลดน้อยลง แม้ยังเผชิญกับเงินเฟ้อจากการบริโภคภายในประเทศ พร้อมย้ำเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มลดลงแล้ว ขณะที่ “เจอโรม พาวเวล” ฟันธง ยังคงกรอบเงินเฟ้อที่ 2% 

Key Points

  • เยลเลนยืนยันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ลดน้อยลง
  • เยนเลน เผยสหรัฐฯ ยังเผชิญกับเงินเฟ้อจากการบริโภคภายในประเทศ
  • เจอโรม พาวเวล ฟันธงมุ่งหน้าคงกรอบเงินเฟ้อที่ 2% 

​​สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (23 มิ.ย.) ว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) นั้นลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังมีภารกิจลดอัตราเงินเฟ้อจากภาคการบริโภค เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยรวมให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน

โดยเยลเลนขยายประเด็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอยว่า “ดิฉันไม่พูดว่า มันไม่มีความเสี่ยง เพราะตอนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” พร้อมพาดพิงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งของเฟดตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 และจนถึงช่วงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด (Assessment of the US Economy) ของเยลเลนเป็นไปตามรายงานการจ้างงานในเดือนพ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์ 

รวมทั้งภาคการก่อสร้างบ้าน และยอดค้าปลีกในเดือนที่แล้วก็ยังแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น (Resilience) “ที่น่าประหลาดใจ” ของเศรษฐกิจท่ามกลางการคุมเข้มทางการเงินเชิงรุกของเฟด

ลดการใช้จ่ายภาคครัวเรือน 

“มีความเป็นไปได้ที่อัตราการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนจำเป็นต้องชะลอตัวลง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่เป็นไปตามที่ทางการต้องการ” เยลเลนกล่าว ผ่านการอ้างอิงถึงการบริโภค โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Measure of Price) ซึ่งตัดต้นทุนราคาค่าอาหาร และพลังงานออก ว่าปรับตัว “ค่อนข้างสูง” เธอ กล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสําหรับเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 12 เดือนก่อนหน้า โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาบ้าน (Housing Costs) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมีส่วนทำให้ “เงินเฟ้อภาพรวม” สูงขึ้นตามไป ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (The Headline CPI) เดือนพ.ค. อยู่ที่ 4% ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว

“อัตราเงินเฟ้อลดลงมากจริงๆ” เยลเลน กล่าว พร้อมคาดการณ์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาที่อยู่อาศัย (Adjustment in the Housing Market) ​ซึ่งปรับตัวอย่างเข้าที่เข้าทาง

การถกเถียงกันเรื่องอัตราเงินเฟ้อ 2%

สําหรับข้อถกเถียงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า เฟดควรเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 2% ที่หรือไม่ เยลเลน ระบุว่า การอภิปรายดังกล่าวไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่ผู้กําหนดนโยบายกําลังต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น

“ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะถกเถียง และพูดคุยในเรื่องกรอบเงินเฟ้อด้วยท่าทีเป็นมิตร” เยลเลน กล่าว “แต่นี่ไม่ใช่เวลาสําหรับการถกเถียงที่ว่านั้น”

โดย เจอโรม พาวเวล (Jerome Powell) แสดงท่าทีหนักแน่น และปฏิเสธแนวคิดที่จะปรับกรอบเงินเฟ้อให้มากขึ้นกว่า 2% ต่อหน้าสภาคองเกรส เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ที่มา: บลูมเบิร์ก