เอเชียกลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่สำหรับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรวดเร็ว หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ สั่งฟ้องแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซีในปีนี้ ซึ่งมูลค่าการซื้อขายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐปรับทิศทางเข้ามายังเอเชียแทน
การไหลเข้าของเม็ดเงินในตลาดคริปโทครั้งนี้ อาจเร่งตัวขึ้นอีกเมื่อ Marker Maker และแพลตฟอร์มต่างๆ โยกย้ายมายังเอเชีย ซึ่งมีการจัดตั้งขอบเขตอย่างเป็นระเบียบ และต่างมองหาเทรดเดอร์สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล
นักลงทุน และตลาดออนไลน์ทะลักเข้ามายังสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนฮ่องกงเพิ่งจะเริ่มเห็นการเข้ามาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเพิ่งจะมีการนำกฎระเบียบใหม่สำหรับคริปโทมาใช้ในเดือนนี้
ข้อมูลจาก CryptoQuant ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขการซื้อขายบิตคอยน์ในชั่วโมงซื้อขายตามเวลาเอเชียเพิ่มขึ้นในปีนี้ แม้ว่าจะเห็นการลดลงของการซื้อขายเมื่อเข้าสู่เวลาตามสหรัฐฯ และยุโรป โดยการซื้อขายเหรียญบิตคอยน์นั้นมีมูลค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของตลาดคริปโท
บลูมเบิร์กสอบถามนักลงทุนในตลาดหลายคน ซึ่งต่างให้ความเห็นว่า ความยืดหยุ่นในปริมาณการซื้อขายคริปโทในเอเชียนั้นมาจากนักลงทุนสถาบันที่เห็นว่า สภาพแวดล้อมของกฎระเบียบมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า โดยกฎระเบียบที่ไม่มีความแน่นอนในสหรัฐฯ นั้น ทำให้เอเชียกลายมาเป็นศูนย์กลางใหม่ที่สำคัญสำหรับกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
สิ่งที่ทำให้การไหลเข้ามายังเอเชียครั้งนี้น่าสนใจ ก็คือ มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นเกิดแม้ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่อนุญาตการซื้อขายคริปโท ส่วนอินเดียก็มีการเรียกเก็บภาษีที่เข้มงวดจนส่งผลให้กิจกรรมซื้อขายลดลง ซึ่งจำนวนประชากรของทั้งสองประเทศนั้นมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในเอเชีย และจะเป็นการเพิ่มโอกาสอย่างมากหากสองประเทศนั้นผ่อนคลายความเข้มงวดลง
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า การเปลี่ยนทิศทางมายังเอเชียนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐอเมริกาจะเข้าควบคุมตลาดคริปโทในปีนี้ ส่วนบิตคอยน์ และเอเธอร์สำรอง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการโยกย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุน เห็นการร่วงลงอย่างหนักในแพลตฟอร์มที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากการล่มสลายของ FTX เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
สินทรัพย์ดิจิทัลไหลออกอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ ก.ล.ต.สหรัฐฯ สั่งฟ้องเจมินี (Gemini), ไบแนนซ์, คอยน์เบส, และ จัสติน ซัน นักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจใน Huobi Global ซึ่งเป็นบริษัทเว็บเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยังระบุว่าทางหน่วยงานเห็นว่า มีเหรียญดิจิทัล 19 เหรียญที่ควรจะเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งควรที่จะอยู่ใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.สหรัฐฯ โดยเกิดการเทขายเหรียญคริปโทอย่างหนักหลังจากที่ ก.ล.ต.กล่าวเช่นนั้น
ทางด้านยุโรป ซึ่งมีประกาศมาตรการควบคุมคริปโทออกมาก่อนหน้านี้ ยังจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้จนกว่าจะถึงต้นปีหน้า ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งออกกฎเกณฑ์เองในการควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลระบุในเดือนนี้ว่า จะยกเลิกโบนัสสำหรับการแนะนำเพื่อน เข้าใช้งานครั้งแรก ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ไบแนนซ์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคริปโทที่ใหญ่ที่สุดนั้นยังประคองตัวมาได้จนถึงเดือนเมษายน แม้มูลค่าการซื้อขายที่เป็นสกุลเงินยูโร-ดอลลาร์สหรัฐวูบหายอย่างหนัก โดยบริษัทเพิ่งประกาศยกเลิกทำการตลาดในเนเธอร์แลนด์หลังไม่สามารถจดทะเบียนได้สำเร็จ
ส่วนไบแนนซ์ดอตยูเอส (Binance.US) ที่เป็นอีกหนึ่งบริษัทแยกสำหรับชาวสหรัฐฯ ก็เห็นส่วนแบ่งตลาดที่หายไปเกือบหมดหลังโดน ก.ล.ต. และองค์กรกํากับดูแลการซื้อขายอนุพันธ์ของสหรัฐฯ สั่งฟ้อง
ที่มา: บลูมเบิร์ก