รอยเตอร์มองทิศทางเศรษฐกิจไทยยุครัฐบาลเศรษฐาไม่ง่าย ภารกิจที่เป็นด่านทดสอบรออยู่ข้างหน้า คือ การทำตามสัญญาที่พรรคเพื่อไทยให้ไว้กับประชาชน ตั้งแต่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ไปจนถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ โดยระบุว่า ภารกิจหลัก ที่รอนายเศรษฐาอยู่ข้างหน้านั้น รวมถึง การทำตาม “คำมั่นสัญญา” ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ไว้กับประชาชนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึง
- การพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- การเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือน
- การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก
- และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชน 71 ล้านคน
สื่อใหญ่รอยเตอร์รายงานว่า เพียง 1 วันก่อนที่นายเศรษฐาจะได้รับการโหวตรับรองจากรัฐสภา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจขยายตัว 3.1%
นอกจากนี้ GDP ของไทยไตรมาส 2 ยังชะลอลงจากระดับ 2.6% ในไตรมาส 1/2566 อีกด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ ขณะที่การส่งออกชะลอตัวลงมากกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับการใช้จ่ายโดยรวมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังอ่อนแรงลงเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
วิเคราะห์วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน ระเบิดลูกใหญ่สะเทือนเศรษฐกิจโลก
ทีมวิเคราะห์ของรอยเตอร์มองว่า นอกเหนือจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยแล้ว การที่ไทยมีหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้มีการฟื้นตัวในระดับหนึ่ง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่บริหารประเทศมาเป็นเวลานานหลายเดือน และสถานการณ์การเมืองไม่แน่นอนภายหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สิ่งที่คณะรัฐบาลชุดใหม่ของไทยจะต้องเร่งดำเนินการคือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำผลงานย่ำแย่ที่สุดในเอเชีย
ในการแถลงข่าวครั้งแรกหลังจากได้รับการโหวตรับรองให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันพุธ (23 ส.ค.) นายเศรษฐาให้คำมั่นสัญญาว่า จะเร่งหาทางออกเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทย รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ และบริหารจัดการงบประมาณอย่างโปร่งใส
รอยเตอร์ ระบุว่า การบริหารจัดการงบประมาณมูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท (9.596 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปีงบประมาณ 2567 ของไทยนั้น จะเป็นภารกิจหลักสำหรับนายเศรษฐา ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเมืองและเป็นผู้ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอว่าประสบการณ์ด้านธุรกิจของเขาจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งขึ้นได้
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนหลายข้อ ซึ่งรวมถึง
- การผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต 5% ในทุกๆ ปี
- ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน
- และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 3 เท่า
ด้านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แนะนำว่า ในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยทีมเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องมุ่งเน้นในเรื่องการลดค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนในภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงต้นทุนเชื้อเพลิง ส่วนภารกิจอื่นๆ นั้น จะรวมถึงการเร่งกระบวนการการเบิกจ่ายงบประมาณ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปีซึ่งเป็นไฮซีซัน
ที่มา: รอยเตอร์