โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
การส่งออกไทยเดือนก.ค. ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -6.2 YoY% (vs prev -6.4%) จากตลาดคาด -2.8% ถึง -3.1%
- การนำเข้า มีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -11.1% YoY (vs prev -10.3%) ส่งผลให้ในเดือนก.ค.66 ไทยขาดดุลการค้า -1,977.8 ล้านดอลลาร์ฯ (vs prev +58 ล้านดอลลาร์ฯ)
- สำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -5.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -4.7% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า -8,285.3 ล้านดอลลาร์ฯ
- เมื่อพิจารณารายกลุ่มสินค้าพบว่า มูลค่าการส่งออกของสินค้าในทุกกลุ่มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,162.3 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -7.7% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ไข่ไก่สด, ข้าว, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง
- ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,823 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -11.8% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นม-ผลิตภัณฑ์นม, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผักกระป๋อง-แปรรูป
- ด้านกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 17,364.4 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -3.4% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด, หม้อแปลงไฟฟ้า, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
- กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า เป้าหมายทั้งปียังอยู่ที่ 1-2% เพราะถือเป็น Working target ซึ่งหากจะทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีไม่ติดลบเลย หรืออยู่ที่ 0% มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยประมาณ 24,800 ล้านดอลลาร์ฯ แต่หากจะให้บวกเล็กน้อยที่ 0.5% มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ท้าทาย