โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
อัตราเงินเฟ้อของไทยขยายตัว 0.88% YoY เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนก่อนที่ 0.38% และเมื่อเทียบรายเดือนอัตราเงินเฟ้อพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 0.55% MoM จากเดือนก่อนที่หดตัว เป็นผลจากปรับเพิ่มขึ้นของหมวดอาหาร (ขยายตัว 0.74% YoY) เป็นหลัก นำโดย ข้าว ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่วนราคาหมูยังคงปรับตัวลงในเดือน ส.ค. เนื่องด้วยมีเนื้อหมูจากเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในไทย ส่วนกลุ่มราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวขึ้น 0.98% YoY จากกลุ่มเคหสถาน และ ค่าของใช้ส่วนบุคคล
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ YTD อยู่ที่ 2.0% AoA
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 0.79% เป็นอัตราชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8
มองไปข้างหน้า เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อไทยไม่น่าจะต่ำไปกว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. แล้วเนื่องด้วย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อสิ้นปีอาจจะไต่ท้องช้างจากช่วงครึ่งปีแรกขึ้นไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่าอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2023 จะอยู่ในกรอบ 1-2%
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปัจจุบัน แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% แต่ด้วยผู้ว่า ธปท. ได้มีความเห็นว่า ราคาอาหารอาจจะขยับขึ้นต่อช่วงสิ้นปี และ ธปท. ได้กล่าวเมื่อวันอังคารว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังไม่ใช่ระดับ Neutral Rate นั่นแปลว่า ธปท. ยังเปิดทางและมีความเป็นไปได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะขยับขึ้น ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การประชุม กนง ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ย.นี้