การทรุดตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนเมื่อเดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าคาดการณ์ หลังจากที่ดัชนีภาคการบริการที่เป็นตัวชี้วัดหลักปรับตัวลดลงอยู่ในแดนลบ โดยผลสำรวจระบุว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นได้
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สุดท้ายจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดย S&P Global และมักใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 46.7 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 48.6 เมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563
โดยตัวเลขดังกล่าวนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างการเติบโต และการหดตัว ในขณะที่ กลุ่มประเทศในยูโรโซนนั้นมีตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 มาเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกันแล้ว และตัวเลขล่าสุดในเดือนสิงหาคมยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่มองไว้ 47.0
นายไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จาก HCOB ระบุว่า ยูโรโซนไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในครึ่งปีหลังนี้จะเห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งตัวเลขที่น่าผิดหวังส่งผลให้ทางฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ 0.1% สำหรับไตรมาสที่สามนี้
ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการลดลงจาก 50.9 มาอยู่ที่ 47.9 ในเดือนสิงหาคม และยังต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 48.3 จากการที่ผู้บริโภคที่มีหนี้สินเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบจากค่าธรรมเนียมการกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมถึงค่าครองชีพที่พุ่งสูง และมีผลต่อการใช้จ่าย
ในขณะเดียวกัน ดัชนีด้านธุรกิจซึ่งเป็นตัวชี้วัดอุปสงค์ในกลุ่มยูโรโซนก็เห็นการลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 46.7 จากก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ 48.2 และยังเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการผลิตที่เริ่มผ่อนคลายในเดือนก่อนหน้า อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าจุดต่ำสุดนั้นผ่านพ้นไปแล้ว โดยปรับตัวสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบสามเดือนที่ 43.5 ในเดือนสิงหาคม จาก 42.7 ในเดือนกรกฎาคม แม้จะยังอยู่ต่ำกว่าคาดการณ์ก็ตาม
บริษัทในกลุ่มยูโรโซนก็ยังไม่มีการจ้างงานที่สูงขึ้นด้วยเช่นกันในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีจ้างงานปรับตัวลดลงจาก 51.4 มาอยู่ที่ 50.2 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งรูเบีย ระบุว่า เป็นสัญญาณถึงการลดการจ้างงานในเร็วๆ นี้
ด้าน Hans-Werner Sinn ประธานกิตติคุณแห่งสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจของเยอรมนี (Institute for Economic Research หรือ Ifo) กล่าวในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ว่า ในขณะนี้ เยอรมนีกลายเป็นคนป่วยของยุโรป “sick man of Europe” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคำพูดดังกล่าวเป็นวลีที่ใช้เรียกประเทศในยุโรปที่ประสบกับช่วงเวลาแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
เยอรมนีรายงานการขาดดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ โดยมีมูลค่าขาดดุลราว 1 พันล้านยูโร โดยเยอรมนีผันตัวเองจากเดิมที่มีงบดุลเกินจนกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามากกว่าส่งออก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเยอรมนีก็กลับมารายงานตัวเลขเกินดุลการค้าราว 1.87 หมื่นล้านยูโรในช่วงเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา โดยการส่งออกของประเทศยังเห็นการเติบโตที่เชื่องช้า
นอกจากนั้นแล้ว นักลงทุนยังเริ่มมีความกังขาต่อการศึกษาของเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเยอรมนี ซึ่งมีส่วนที่ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า เยอรมนีเป็นคนป่วยแห่งยุโรปด้วยเช่นกัน
ที่มา: รอยเตอร์ / ซีเอ็นบีซี