โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนส.ค.เร่งตัวขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่ 3.7% YoY จาก 3.2% เดือนก่อน สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6% หลักๆ มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับฐานต่ำจากปีที่แล้ว (ทําให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น) ในรายองค์ประกอบพบว่า ราคาพลังงาน (เมื่อเทียบรายปี) แม้จะยังหดตัว -3.6% YoY แต่เป็นการหดตัวที่ต่ำกว่าเดือนก่อนที่ -12.5% โดยในกลุ่มย่อยของพลังงานพบว่าน้ำมันเตา (หดตัว-14.8% เทียบกับ -26.5%) และน้ำมันเบนซิน (หดตัว-3.3% เทียบกับ -19.9%) ต่างหดตัวในอัตราที่ลดลง นอกจากนี้ต้นทุนการขนส่ง (10.3% เทียบกับ 9%) ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวสําหรับราคาไฟฟ้า (2.1% เทียบกับ 3%) อาหาร (4.3% เทียบกับ 4.9%) ที่พักพิง (7.3% เทียบกับ 7.7%) ยานพาหนะใหม่ (2.9% เทียบกับ 3.5%) และเครื่องแต่งกาย (3.1% เทียบกับ 3.2%) นอกจากนี้ ต้นทุนการให้บริการก๊าซสาธารณูปโภคได้หดตัว (-16.5% เทียบกับ -13.7%) บริการทางการแพทย์ (-2.1% เทียบกับ -1.5%) และรถยนต์และรถบรรทุกมือสอง (-6.6% เทียบกับ -5.6%) ยังหดตัวเพิ่มขึ้น
หากวิเคราะห์ลึกลงไปในหมวดสินค้ากลุ่ม Supercore Inflation ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการจะเห็นว่า ราคาในกลุ่มการขนส่งยังไม่มีทีท่าว่าจะลง ในการประชุม Fed เดือนก.ย. อาจจะมีการพูดถึงสถานการณ์พลังงาน และราคาในภาคบริการที่ยังไม่ลงโดย Fed อาจจะใช้ข้อมูลนี้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
หากเรานำข้อมูลที่ตลาดคาด ไม่ว่าจะเป็น Market Implied Inflation, Market Implied Policy Rate มาเทียบกับข้อมูลจริง เราจะพบว่า โดยส่วนใหญ่ตลาดคาดการณ์ทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในทางที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ตลาดมักจะคาดการณ์ได้ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ต่อเมื่อระยะเวลาที่คาดการณ์ใกล้กับวันที่ประกาศผลการประชุมของ FOMC
ในรอบนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ย.นี้และปิดปีนี้ที่ 5.5%