โดย จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา BBLAM
อินโดนีเซีย หนึ่งในประเทศกลุ่ม Emerging Market ที่ตลาดหุ้นค่อนข้าง Outperform ที่สุดในปี 2565 ด้วยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี โดยปี 2565 การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.31% ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนมาจากภาคการส่งออกสินค้า Commodity ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออกถ่านหิน ซึ่งความขัดแย้งในยูเครนและรัสเซียในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาสินค้า Commodity ปรับสูงขึ้นจากภาวะ Supply Shortage และทำให้ราคาถ่านหินปรับสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมา และทำให้มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียมีมูลค่ารวมสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย โดยในปี 2565 การผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 687 ล้านตันและการส่งออกอยู่ที่ 494 ล้านตัน ซึ่งการที่กลุ่มสหภาพยุโรปจำกัดการนำเข้าถ่านหินและก๊าซจากรัสเซียส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมากขึ้นแทน ขณะที่ในปีนี้อินโดนีเซียคาดว่าการผลิตถ่านหินจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 695 ล้านตันและการส่งออกอยู่ที่ 518 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.2% และ 4.9% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขการผลิตและการส่งออกถ่านหินของอินโดนีเซียจะยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การใช้ถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเองนั้นกลับมีแนวโน้มลดลง โดยปีที่ผ่านมามีการใช้ถ่านหินในประเทศ 193 ล้านตัน ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 177 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายในการลดคาร์บอน หรือการ Decarbonization ซึ่งการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมานั้น อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ร่วมกันจัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หรือการ Decarbonization ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายในด้านต่างๆ ได้แก่ การทำให้เกิด Net Zero Target ภายในปี 2593 การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาเป็น 34% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2593 รวมไปถึงการลดและจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา อินโดนีเซียยังริเริ่มการเก็บภาษีที่เรียกว่า Carbon Tax รวมถึงให้ Incentive แก่ผู้ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ อีกทั้งยังร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์ เพื่อพัฒนา Platform และกำหนดราคาเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย
และนี่คือ อีกบทบาทสำคัญของประเทศอินโดนีเซียที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ก้าวทันประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการสร้างสังคมสีเขียวนั่นเอง