BBLAM Indonesia Corner: อินโดนิเซียกับความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าแห่ง ASEAN
โดย สรณกร เตชะยัน BBLAM
ถ้าพูดถึงประเทศใน ASEAN ที่เนื้อหอมและดึงดูดค่ายรถยนต์หลากหลายแบรนด์มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นาทีนี้ เราคงนึกถึงอินโดนิเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และประชากรมากที่สุดใน ASEAN อินโดนิเซียจะเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Hub ของ ASEAN ในอนาคตได้หรือไม่ มีหลากหลายประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กัน
อย่างแรก อินโดนิเซียให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านในการใช้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซ สู่พลังงานไฟฟ้า โดยอินโดนิเซียเป็นสมาชิกของ International Energy Agency (IEA) และมีแผนที่จะเป็นประเทศที่มี Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2060 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อินโดนิเซียทำได้ตามแผน โดยนโยบายของประธานาธิบดี Joko Widodo ส่งเสริม คือ ภายในปี 2025 อินโดนิเซียมีแผนที่จะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 ใน 5 ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ ซึ่งการที่ค่ายรถยนต์จากต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดอินโดนิเซีย ต้องไม่ใช่แค่มาผลิตแบตเตอรี่ แต่ต้องเข้ามาสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนิเซียด้วย นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตั้งเป้าจะขายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2050 ซึ่งล่าสุด อินโดนิเซียได้จับมือกับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla และ BYD เสริมทัพการเติบโตจากเดิมที่มี Toyota Honda และ Hyundai เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว
เมื่อวิเคราะห์ในด้านความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน ASEAN และมีทรัพยากรธรรมชาติมาก โดย 1 ใน 3 ของแร่ Nickel สำรองของโลกอยู่ที่นี่ โดยแร่นี้เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจาก Nickel เป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ลิเธียมอิออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อินโดนิเซียยังมีกำลังแรงงาน หรือ work force ในระบบที่มาก จากการที่มีประชากรอายุน้อยในสัดส่วนที่มาก อีกทั้งยังมีค่าแรงที่ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศใน ASEAN
อย่างไรก็ตาม อินโดนิเซียยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะในแง่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) นั้น มีประเด็นเรื่องความยืดหยุ่นในการลงทุนโครงสร้างธุรกิจกลุ่มยานยนต์ อินโดนีเซียมีมาตรการบังคับให้บริษัทต่างชาติต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น อย่าง PT Toyota Motor Manufacturing Indonesia เป็นการร่วมทุนระหว่าง Toyota กับบริษัทท้องถิ่นอย่าง Astra International เพื่อทำธุรกิจประกอบรถยนต์ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ การผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่บนเกาะชวา ที่มีความต้องการใช้รถสูงเท่านั้น ในขณะที่ พื้นที่อื่นๆ ของประเทศยังพัฒนาไปไม่ถึง นอกจากนี้ แรงงานในประเทศยังมีทักษะที่ไม่สูง และอินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศค่อนข้างมาก อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จยังต้องพัฒนาอีกมาก ในมุมมองของผู้บริโภค แม้ว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนิเซียนั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ในตอนนี้ การซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งเรื่องส่วนต่างราคาที่สูงกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปมาก และการเข้าถึงสถานีชาร์จที่มีอย่างจำกัด
ในปีนี้ อินโดนิเซียเตรียมออกมาตรการหนุนยอดขายและการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายกระตุ้นยอดขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2 แสนคัน และรถยนต์ไฟฟ้า 36,000 คัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 รัฐบาลยังมีนโยบายในการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT รถยนต์ไฟฟ้า เหลือเพียงร้อยละ 1 จากที่เคยเก็บอยู่ร้อยละ 11 รัฐมนตรีคมนาคมอินโดนีเซีย นายบูดี คาร์ยา ซูมาดี กล่าวว่า “มี 3 ประเด็นที่ต้องคำนึงถึง อย่างแรก คือ ทำอย่างไรให้แบตเตอรี่มีราคาถูก แต่มีศักยภาพการใช้งานที่สูง อย่างที่สอง คือ เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และสาม คือ การเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ”
ในศึกการแย่งชิงความเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN จริงๆ แล้วในตอนนี้ผู้นำการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของ ASEAN คือ ประเทศไทย แต่สายการผลิตหลักๆ ของไทยยังเป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์แบบสันดาป โดยไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปเป็นการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนิเซีย ถึงแม้ไทยจะไม่ได้มีทรัพยากรแร่ Nickel สำรอง แต่ไทยยังมีความได้เปรียบอื่นในการเป็นฐานการผลิต โดยไทยมีความพร้อมด้าน Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานในการผลิต มีความสามารถในการผลิตให้เกิด Economy of Scale หรือการประหยัดจากขนาด ทำให้ต้นทุนถูกลงเมื่อผลิตมากขึ้น โดยนโยบาย 30@30 ของไทย คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2030 ส่วนเป้าหมายการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ไทยตั้งเป้า 30% ในปี 2025 รวมทั้ง 50% ในปี 2030 และ 100% ในปี 2035 โดยความได้เปรียบของไทย คือ การมีโครงสร้างสถานีชาร์จที่ครอบคลุมมากกว่าอินโดนิเซีย
โดยสรุป อินโดนิเซียกับการก้าวไปเป็นศูนย์กลางของถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN นั้น ถึงแม้อินโดนิเซียมีจุดเด่นอยู่หลายข้อ ทั้งตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีทรัพยากรที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น แร่ Nickel ที่เป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ หรือยางพาราที่จะใช้ทำยางรถยนต์ การมีกำลังแรงงาน หรือ Labor Force ในระบบที่สูง และค่าแรงยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน ASEAN แต่อินโดนิเซียก็ยังต้องเจอความท้าทายอีกหลายอย่าง ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐานของโรงงานผลิต โครงสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ การต้องพึ่งพาชิ้นส่วนการผลิตจากต่างประเทศ และการขาดแรงงานทักษะสูง อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ศึกแย่งชิงความเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าใน ASEAN นั้นคงไม่จบง่ายๆ นอกจากไทยที่เป็นเจ้าตลาดเดิมอยู่แล้วจะมีความได้เปรียบอยู่หลายด้าน ยังมีมาเลเซียและเวียดนาม ที่กำลังเข้ามาแข่งขันด้วย คงต้องติดตามต่อไปว่า อินโดนิเซียจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไปเพื่อที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในตลาดนี้