โดย วนาลี ตรีสัมพันธ์ BBLAM
ตัวอักษรย่อ VUCA ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1987 ในวิทยาลัยการทัพบกสหรัฐฯ เพื่ออธิบายสถานการณ์ของยุคหลังสงครามเย็น และถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆ เช่น ในช่วง 2008 Financial crisis ขณะที่ คำว่า VUCA ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ในช่วงที่โลกเราเกิดปัญหาโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่อย่าง COVID-19 เพื่อนำมาใช้อธิบายสถานการณ์ที่โลกเรากำลังเผชิญ แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ การกระจายข้อมูลข่าวสารและการตอบสนองต่อข้อมูลนั้นรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ และข้อมูลมหาศาลนั่นเอง
V-U-C-A คืออะไร
- V-Volatility (ความผันผวน) เราอาศัยอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากหรือน้อย ส่งผลกระทบในวงแคบหรือกว้าง ทั้งนี้ ยิ่งความผันผวนมากขึ้นเพียงใด โลกเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปเร็วเท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นถูกเร้าด้วย Headlines News มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน เช่น คนสนใจไปลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีมาก เราจะเห็นว่า Headline News ช่วงดังกล่าวมีแต่ความก้าวหน้าด้านดีของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ราคา Overshoot เกินปัจจัยพื้นฐานมาก ขณะที่ตอนราคาปรับลง ก็จะลงได้มากเช่นกัน
- U-Uncertainty (ความไม่แน่นอน) การคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลในอดีตมาคาดการณ์อนาคตก็ทำได้แม่นยำน้อยลง หรือคาดเดาแทบไม่ได้เลย เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือ COVID-19 ทำให้บริษัทที่ลงทุนต่างประเทศต้องปรับฐานการผลิต
- C-Complexity (ความซับซ้อน) การอาศัยในโลกยุคปัจจุบันซับซ้อนกว่าในอดีตมาก ปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันไปหมด ดังนั้น การตัดสินใจต้องยืดหยุ่น และเปิดทางเลือกอื่นๆ เตรียมไว้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา ขณะที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือหรือปัจจัยเดิมๆ มาใช้ได้ผลเหมือนอดีต
- A-Ambiguity (ความคลุมเครือ) เราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวลวง ข่าวลือ นอกจากคนบางกลุ่มยังใช้ Social Media เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ ดังนั้น การเลือกใช้ข้อมูลที่ผิดมาวิเคราะห์จะส่งผลเสียอย่างมากต่อการลงทุน ตลอดจนใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากเกินไปด้วย
ดังนั้น ยุค VUCA อาจแปลความหมายได้ว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความคลุมเครือและผันผวน ผลลัพธ์จึงซับซ้อนและกระทบได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ เราจะรับมือกับมันได้ยังไง
แนวทางรับมือกับยุค VUCA ด้วย V-U-C-A
- V-Vision (วิสัยทัศน์) การตั้งวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน จะช่วยให้เราโฟกัสที่เป้าหมายเป็นหลักและไม่ถูกสิ่งเร้าหรือสิ่งรบกวนต่างๆ ทำให้เราไขว้เขวหรือเบนเข็มออกจากวิสัยทัศน์ที่เราตั้งไว้ รวมไปถึงการมีแผนสำรองไว้เสมอ
- U-Understand (ความเข้าใจ) เมื่อข้อมูลในอดีตสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำน้อยลง เราจึงควรลงทุนหรือทำธุรกิจในสิ่งที่เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะหากเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราจะได้ตั้งมือรับทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด
- C-Clarify (ความชัดเจน) เมื่อโลกมันซับซ้อน เราจึงควรจัดการระบบภายในให้เรียบง่าย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง ตลอดจนมีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ อาจใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping) เพื่อช่วยในการรวบรวม และจัดระบบความคิด และช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ได้
- A-Agility & Adaptability (ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว) ความยืดหยุ่นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัว ขณะที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดงานที่ไม่จำเป็นลงได้
ดังนั้นเพื่อรับมือกับ VUCA เราควรลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ โดยมีวางแผนการลงทุนและโฟกัสที่เป้าหมาย ประเมินและปรับแผนการลงทุนสม่ำเสมอ ตลอดจนเตรียมแผนฉุกเฉินกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยอาจมีแผนสำรองมากกว่า 1 แผนนั่นเอง
เตรียมพร้อมลงทุนในยุค VUCA ด้วย R-E-A-D
เมื่อข้อมูลในอดีตไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอมาใช้คาดการณ์อนาคตแล้วนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ R-E-A-D
- R-Rebalancing (การปรับสัดส่วนการลงทุน) เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรารับได้ ซึ่งควรทำสม่ำเสมอ และ Monitor อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนมาก
- E-Excess Cash (เงินฉุกเฉิน) เราอาจต้องกันสำรองเงินสดไว้เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับโอกาสการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งอาจเกิดขึ้นและผ่านไปอย่างรวดเร็ว
- A-Asset Allocation and Diversification (การกระจายความเสี่ยง) เช่น การลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนใน ETF เป็นต้น เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของ Portfolio ที่เราบริหารอยู่
- D-Dollar Cost Average (การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย) คือ การลงทุนแบบสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกงวด เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวน และจังหวะผิดพลาดของการลงทุน นอกจากนี้ยังสร้างวินัยให้เรามุ่งมั่นลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่นำอารมณ์มาเป็นเครื่องชี้นำการลงทุนอีกด้วย
ความผันผวนไม่มีจุดสิ้นสุด เราอาจไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า พรุ่งนี้จะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง และเช่นเดียวกันกับโลกของการลงทุนที่เราไม่สามารถบังคับให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ได้ แต่หากเราโฟกัสกับแผนการลงทุนและเป้าหมายของเรา ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ตลาด หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ พร้อมทั้งปรับสัดส่วนและ monitor การลงทุนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมและเตรียมแผนสำรองต่างๆ ไว้เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น อย่างน้อยเราก็จะจำกัดการขาดทุนได้อย่างทันท่วงที