โดย ศจิกา ชวนะศักดิ์ BBLAM
Perpetual Bond หรือหุ้นกู้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เป็นตราสารหนี้ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจากการที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปค่อนข้างมาก แต่เรามักจะได้ยินประโยคในการลงทุนว่า High Risk High Return เสมอๆ ดังนั้น ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงมาจากคุณสมบัติบางประการของ Perpetual Bond ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปดังนี้
ประการแรก Perpetual Bond ไม่มีกำหนดไถ่ถอน หรือไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปที่กำหนดวันไถ่ถอนชัดเจน ซึ่งหมายความว่า หุ้นกู้อาจจะมีอายุยาวนานมากๆ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้จึงมีความเสี่ยงในการได้รับคืนเงินต้นช้า หรืออาจจะไม่ครบจำนวนในกรณีที่บริษัทต้องเลิกกิจการ ถ้าหากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ต้องการถือหุ้นกู้อีกต่อไป จะต้องขายในตลาดรอง ซึ่งมีความเสี่ยงจากการที่ราคาขายได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง หรืออาจขายไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการจากความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
ประการที่สอง เนื่องจาก Perpetual Bond ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน จึงมักกำหนดให้ผู้ออกมีสิทธิในการไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด (Call Option) เช่น ครบกำหนด 5 ปีนับจากวันที่ออกหุ้นกู้ โดยบริษัทส่วนใหญ่มักไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดอายุ 5 ปี เนื่องจากในช่วง 5 ปีแรก บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะนับเป็นทุนครึ่งนึง หลังจากนั้นจะนับเป็นหนี้ส่งผลให้อัตราส่วน D/E สูง
ประการที่สาม ความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิ (Subordinate) หากบริษัทปิดกิจการไป ผู้ลงทุนจะได้เงินคืนเป็นลำดับรองจาก ผู้ถือหุ้นกู้ที่มีประกัน (Secured Bond) และผู้ถือหุ้นกู้ที่ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) แต่มีสิทธิก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ประการที่สี่ สิทธิในการเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ และไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ถือหุ้นกู้จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับดอกเบี้ยล่าช้าหรือไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่โดยทั่วไปบริษัทจะพยายามจ่ายตามกำหนดเพื่อป้องกันการเสียชื่อเสียง
ประการสุดท้าย หุ้นกู้ Perpetual Bond ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการผิดนัดไขว้ (Cross-Default) หรือกรณีที่ผู้ออกผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้ สัญญาทางการเงินอื่นๆ ผู้ถือ Perpetual Bond ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ผู้ถือ Perpetual Bond มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด หากบริษัทเกิดการขาดสภาพคล่อง
สำหรับตลาด Perpetual Bond ในประเทศไทย พบว่า ผู้ออกหุ้นกู้มาจากหลายธุรกิจ ดังนี้
ทั้งนี้ ในแง่อันดับความน่าเชื่อถือของ Perpetual Bond โดยปกติจะมีลำดับต่ำกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ 2 notch (อันดับ) อันเป็นผลจากลักษณะความด้อยสิทธิของหุ้นกู้
ถ้าหากนักลงทุนยังคงสนใจลงทุนใน Perpetual Bond ควรพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้
1. Credit Rating หรืออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ สำหรับประเทศไทย มีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง ได้แก่ Tris Rating และ Fitch Rating ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการชำระหนี้คืน ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB ถึง AAA จะมีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงระดับต่ำ ดังนั้น มักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่ม Non-Investment Grade ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB ดังนั้น นักลงทุนต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของความเสี่ยงและผลตอบแทนที่จะได้รับ
2. การประกอบธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ ควรพิจารณาถึงแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต ความเสี่ยงหลักของธุรกิจหลัก รวมถึงวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้
3. เงินที่นำมาลงทุนควรไม่มีกำหนดใช้ในระยะสั้น เนื่องจากเงินต้นจะได้คืนใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีหรือมากกว่า และถึงแม้ได้เงินต้นคืนก็ยังคงมีความเสี่ยงจาก Reinvestment เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจต่ำกว่าหุ้นกู้เดิมที่ได้รับ