โดย วันภาสิริ พัฒนกิจการุณ BBLAM
ภาพรวมตลาดการลงทุนครึ่งปีแรกนั้น ถึงแม้ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวขึ้นได้ดีกว่าคาด จากปัจจัยหนุนทางด้านเศรษฐกิจที่่ไม่ได้แย่ลงตามที่่เคยคาดไว้ และยังคงมีการเติบโตที่ดี ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการ การใช้จ่ายภาคการบริโภค และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่่เพิ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามอัตราเงินเฟ้อที่่มีแนวโน้มผ่านพ้นจุดสูงสุด ตามรายงานดัชนี CPI ทั่วไป ก.ค. เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือเพียง 3.2% จากจุดสูงสุดกว่า 9% ในปีที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่ Fed จะยุติการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินในปีนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากภาคบริการ หลังเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) หมดลง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบที่่ลดลง Bond Yield ที่่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดัน Valuation ของตลาดหุ้น มีมูลค่าสูงเกินไป นักวิเคราะห์ประเมินว่า Forward P/E ของดัชนี S&P500 ควรเทรดที่่ระดับต่ำกว่า 17 เท่า ต่ำกว่าปัจจุบันที่่ 19 เท่า และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นปัจจัยลบที่กดดันตลาดหุ้น
ความสนใจของปีนี้ นักวิเคราะห์ทั้งหลายจึงได้มองมาที่ พันธบัตร ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าหุ้น จากกระแสรายรับดอกเบี้ยที่่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มตราสารหนี้ภาครัฐ (Global Treasury) ตราสารหนี้เอกชนในกลุ่ม Investment Grade Credit และตราสารหนี้ High Yield ที่ให้อัตราผลตอบแทนในปัจจุบันที่ระดับ 5% 5.7% และ 8.5% ตามลำดับ และยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคา (Capital Gains) ตามวงจรดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดสูงสุดและมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยปัจจุบัน Bond Yield อายุุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.2% ต่อปี ในขณะที่่คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นหรือ Earnings Yield ของ S&P500 ซึ่งเป็นส่วนกลับของ Forward P/E ลดลงมาต่ำกว่า 5% ส่งผลให้ส่วนต่างของคาดการณ์ผลตอบแทน (Earnings Yield Gap) ลดลงมาต่ำลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 20 ปี บ่งชี้้ว่าอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงพันธบัตรมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น จากในสภาวะปัจจุบันที่ตลาดมีมุมมองที่่ดีต่อตลาดหุ้นมากเกินไป
ถึงแม้ภาคตลาดการเงิน จะมีปัจจัยกดดันจากการที่ Fitch Ratings ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ลง 1 ระดับ จาก AAA มาสู่ระดับ AA+ จากความความกังวลต่อสถานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ที่ล่าช้าหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดอันดับครั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือมากนัก เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (Spreads) ระหว่างอัตราผลตอบแทน OIS (การแลกเปลี่ยนระหว่างอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) กับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)) ซึ่งเทียบเคียงได้กับการฝากเงินกับ Fed ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวใกล้เคียงกับก่อนการประกาศ ไม่ได้ผันผวนเหมือนตอนที่ถูกปรับลดครั้งก่อนในปี 2011 และในมุมมองของผู้ซื้อตราสารหนี้ อันดับเครดิตระหว่าง AAA และ AA+ ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ในเกณฑ์มาตรฐาน Basel กำหนดอันดับ AAA และ AA+ อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนสำรอง หรือขายพันธบัตรออก หรือในแง่ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินดออลาร์สหรัฐฯ ยังถือว่ามีความเชื่อถือมากกว่าสกุลเงินอื่น เนื่องจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรมีความต้องการเสมอ และประเด็น Moody’s ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ ลง ยังเป็นความเสี่ยงเฉพาะ ผลกระทบคาดว่าจะมีจำกัดมาก และเป็นปัจจัยระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อราคาไม่มาก เนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดการเงินขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
การลงทุนในตราสารหนี้ จึงถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการถือครองตราสารหนี้ มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีโอกาสขาดทุนต่ำ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย สามารถป้องกันความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้ นักลงทุนจึงควรกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนส่วนหนึ่งมาที่ตราสารหนี้เพื่อปกป้องเงินลงทุน