Economic Update: กนง.มองเศรษฐกิจไปฟื้นปี 2024 แต่ขอปรับดอกเบี้ยขึ้นก่อนตอนนี้เลย

Economic Update: กนง.มองเศรษฐกิจไปฟื้นปี 2024 แต่ขอปรับดอกเบี้ยขึ้นก่อนตอนนี้เลย

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM

Key Takeaway กนง.มองเศรษฐกิจไปฟื้นปี 2024 แต่ขอปรับดอกเบี้ยขึ้นก่อนตอนนี้เลย

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % จาก 2.25% เป็น 2.50%

ภาพรวมเศรษฐกิจ

  • เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ขยายตัวในอัตราชะลอลงในปี 2023 จากอุปสงค์ต่างประเทศ และจะไปขยายตัวในปี 2024
  • อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

มตินโยบายการเงิน

เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 2.5% เพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

ประเมินภาพเศรษฐกิจ

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8%  และ 4.4% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2024 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% และ 2.6% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2024 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และ 2.0% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง (Upside Risk) โดยเฉพาะในปี 2024 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้น หากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด
  • สำหรับประเด็นด้านค่าเงินบาท กนง.มองว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ฯ อ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต ทั้งนี้ แม้ว่าบาทจะอ่อน แต่เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ธปท ยังได้ผ่อนคลายเกณฑ์การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) กับสถาบันการเงินในประเทศเพิ่มเติม (Link)

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และค่าเงินบาท