เปิดอันดับประเทศที่มี ‘ระบบเงินบำนาญ’ ดีที่สุดในโลกปี 2023 ‘ประเทศไทย’ รั้งท้าย

เปิดอันดับประเทศที่มี ‘ระบบเงินบำนาญ’ ดีที่สุดในโลกปี 2023 ‘ประเทศไทย’ รั้งท้าย

เปิดอันดับประเทศที่มี ‘ระบบเงินบำนาญ’ ดีที่สุดในโลกปี 2023 ‘เนเธอร์แลนด์’ คว้าอันดับ 1 ขณะที่ ‘ประเทศไทย’ รั้งท้าย อยู่อันดับ 43 จาก 47 ประเทศ

วันที่ 17 ต.ค. 66 สำนักข่าว ‘บลูมเบิร์ก’ รายงานว่า เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลและการเงินรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และ ซีเอฟเอ อินสทิทิวท์ (CFA Institute) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินการลงทุนระดับโลกได้เผยแพร่ “Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI)” หรือ ดัชนีระบบเงินบำนาญทั่วโลกประจำปี 2023

โดย ‘ดัชนีระบบเงินบำนาญทั่วโลกประจำปี 2023’ ของสถาบัน Mercer CFA เป็นตัวเปรียบเทียบระบบรายได้หลังเกษียณ 47 ระบบทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ประเมิน ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy) ความยั่งยืน (Sustainability) และความซื่อตรง (Integrity) ซึ่งมีตัวชี้วัดย่อยๆ รวมกว่า 50 ตัวชี้วัด

ในปี 2566 พบว่า ‘เนเธอร์แลนด์’ กลับมาครองตำแหน่งประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุด อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ ‘ไอซ์แลนด์’ แชมป์โลกปี 2565 ร่วงมาเป็นอันดับ 2 สำหรับประเทศที่ได้เกรด A อีกแห่ง คือ อิสราเอล

พร้อมกันนี้ Mercer CFA Institute ยังเตือนอีกว่า สถานการณ์การเกษียณอายุ (Retirement) ทั่วโลก กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับปีนี้ 20 อันดับประเทศที่มีระบบเงินบำนาญที่ดีที่สุดในปีนี้ ได้แก่

  1. เนเธอร์แลนด์ ค่าดัชนีรวม 85.0
  2. ไอซ์แลนด์ ค่าดัชนีรวม 83.5
  3. เดนมาร์ก ค่าดัชนีรวม 81.3
  4. อิสราเอล ค่าดัชนีรวม 80.8
  5. ออสเตรเลีย ค่าดัชนีรวม 77.3
  6. ฟินแลนด์ ค่าดัชนีรวม 76.6
  7. สิงคโปร์ ค่าดัชนีรวม 76.3
  8. นอร์เวย์ ค่าดัชนีรวม 74.4
  9. สวีเดน ค่าดัชนีรวม 74.0
  10. สหราชอาณาจักร ค่าดัชนีรวม 73.0
  11. สวิตเซอร์แลนด์ ค่าดัชนีรวม 72.0
  12. แคนาดา ค่าดัชนีรวม 70.2
  13. ไอร์แลนด์ ค่าดัชนีรวม 70.2
  14. ชิลี ค่าดัชนีรวม 69.9
  15. อุรุกวัย ค่าดัชนีรวม 68.9
  16. เบลเยียม ค่าดัชนีรวม 68.6
  17. นิวซีแลนด์ ค่าดัชนีรวม 68.3
  18. โปรตุเกส ค่าดัชนีรวม 67.4
  19. เยอรมนี ค่าดัชนีรวม 66.8
  20. คาซัคสถาน ค่าดัชนีรวม 64.9

จากรายงานเผยว่า ‘เนเธอร์แลนด์’ กำลังปฏิรูปโครงการบำเหน็จบำนาญ จากลักษณะโครงสร้างโดยรวมไปสู่แนวทางส่วนบุคคลมากขึ้น ทั้งนี้ รายงานยังกล่าวอีกว่า ระบบจะยังคงให้ผลประโยชน์ที่ดีหลังจากการเปลี่ยนแปลง โดยได้รับการสนับสนุนจากฐานสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ระบบบำนาญในประเทศส่วนใหญ่ในโลกอยู่ภายใต้ความเครียด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ หนี้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมไปถึงต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การผนวกแรงงานในเศรษฐกิจขนาดใหญ่

“เดวิด น็อกซ์”(David Knox) หุ้นส่วนอาวุโสของเมอร์เซอร์และผู้เขียนหลักของรายงาน เผยว่า “ผู้คนทั่วโลกต้องเริ่มดูแลตัวเองเมื่อเกษียณ เราไม่สามารถพึ่งพาประกันสังคม หรือเงินบำนาญสาธารณะได้อีกต่อไป”

นอกจากนี้ รายงานยังเผยอีกว่า อัตราการเกิดที่ลดลง สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและระบบบำนาญหลายประเทศในระยะยาว ซึ่งส่งผลเสียต่อคะแนนความยั่งยืนในดัชนีสำหรับบางประเทศ เช่น อิตาลี และสเปน

สำหรับระบบบำเหน็จบำนาญ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 43 จาก 47 โดยมีคะแนนอยู่ที่ 46.4 เรียกได้ว่า ค่อนข้างรั้งท้ายเลยทีเดียว พร้อมแนะให้รัฐบาลไทยควรเพิ่มการสนับสนุนขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน และปรับปรุงข้อกำหนดการกำกับดูแลสำหรับระบบบำเหน็จบำนาญเอกชน

ที่มา : บลูมเบิร์ก