เจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่น กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการใช้จ่ายเงินราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจ่ายเงินให้กับครัวเรือนรายได้น้อย และการปรับลดภาษีเงินได้ในชุดมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของปัญหาที่เกิดกับครัวเรือนจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ร่างของแผนที่ได้จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า การใช้จ่ายดังกล่าว ณ ปัจจุบันประเมินอยู่ที่ราว 5 ล้านล้านเยน (หรือเทียบเท่า 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะรวมถึงสิ่งที่ครอบคลุมการลดภาษีเงินได้มูลค่า 30,000 เยนต่อคน และการปรับลดภาษีที่อยู่อาศัยมูลค่า 10,000 เยนต่อคน ซึ่งจะให้กับครัวเรือนครั้งเดียว และจะดำเนินการในเดือน มิ.ย. 2567
เจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่น กล่าว โดยมีการยืนยันที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์นิคเคอิ (Nikkei) ว่า แผนการใช้จ่ายจะมีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการโดยคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ และยังมีจุดเด่นที่การจ่ายเงินให้กับครัวเรือนรายได้น้อย นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า รายละเอียดของการปรับลดภาษีจะมีการถกอภิปรายกันโดยคณะผู้อภิปรายซึ่งมีอำนาจชี้ขาดของพรรคแกนนำรัฐบาลไปจนถึงช่วงสิ้นสุดของปีนี้
นายฮิเดกิ มุราอิ (Hideki Murai) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขารับรู้ถึงความเห็นของนายกรัฐมนตรีในการปรากฏทางโทรทัศน์เมื่อช่วงสายของวันอังคาร (24 ต.ค.) ว่า เขาต้องการบรรลุการปรับขึ้นค่าจ้างซึ่งจะสามารถชดเชยการปรับขึ้นราคาของสินค้าในปีหน้า
สำหรับรายได้ภาษีอากรได้เติบโตสูงขึ้นในปีนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการหาวิธีการที่จะคืนบางส่วนของภาษีเหล่านั้นให้กับประชาชนเพื่อสนับสนุนครัวเรือน
นายมุราอิ กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งที่เป็นทางการและเฉพาะเจาะจงในการประชุมวันพรุ่งนี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและกลุ่มบริหารของฝ่ายนักการเมือง ซึ่งจะทำให้เป็นรูปเป็นร่างผ่านทางการอภิปรายของคณะผู้อภิปรายซึ่งมีอำนาจชี้ขาดของพรรคแกนนำรัฐบาล”
อัตราเงินเฟ้อซึ่งกระตุ้นโดยต้นทุนค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ยังคงรักษาระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ 2% เป็นเวลานานกว่า 1 ปี โดยกดดันต่อการบริโภค และทำให้มุมมองต่อเศรษฐกิจในอนาคตมืดมัวลง ทำให้การฟื้นตัวจากแผลเป็นของโควิด-19 ต้องล่าช้าออกไป
เนื่องด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้นมีผลต่อการชดเชยราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ช้าเกินไป นายกรัฐมนตรี คิชิดะ ได้ประกาศแผนการที่จะผ่อนคลายความเจ็บปวดโดยการคืนเงินบางส่วนให้กับครัวเรือน โดยคาดว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นจากรายได้ภาษีจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
จากข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) ระบุว่า มาตรวัดหลักตัวหนึ่งของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% ในเดือน ก.ย. ทุบสถิติและสัมพันธ์กับเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้โอกาสที่จะกลับมาใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินขนาดใหญ่มากเพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มสัญญาณของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งติดหล่มอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันด้านราคาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งถ่วงน้ำหนักโดยค่ามัธยฐานที่ 2.0% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในฐานะของเครื่องชี้วัดว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ากำลังเพิ่มเป็นวงกว้างหรือไม่ เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นที่อัตรา 1.8% ในเดือน ส.ค. นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการเปรียบเทียบข้อมูลเกิดขึ้นในปี 2544
ที่มา: รอยเตอร์