โลจิสติกส์จีนเร่งใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์อี-คอมเมิร์ซโต

ไชน่าเดลี่ รายงานว่า บริษัทด้านโลจิสติกส์ในจีนให้น้ำหนักพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีรองรับตลอดซัพพลายเชนตอบสนองการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มการค้าขายระหว่างประเทศ

ซัพพลายเชนแบบดิจิทัลนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดว่า เทคโนโลยี เช่น ระบบพื้นฐานที่ใช้คลาวด์ การวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของซัพพลายเชน และกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับบริษัทโลจิสติกส์หลักๆ ไปแล้ว

Feng Gengzhong รองผู้อำนวยการสมาคมการขนส่งของจีน กล่าวในเวทีพูดคุยของอุตสาหกรรมที่ซีอานว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น JD Logistics ได้สร้างทีมงานร่วมกับรัฐบาลมณฑลส่านซี เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2017 ขณะที่ BestExpress ผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลักอีกเจ้า ก็พัฒนา AI มาใช้ในขั้นตอนการขนส่ง ลดต้นทุนการปฏิบัติงานไปได้ 5%

Feng กล่าวว่า การเติบโตของนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน ช่วยขับเคลื่อนอี-คอมเมิร์ซและการค้าขายข้ามแดนของประเทศจีน อ้างอิงจากข้อมูลจาก chinaidr.com ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยออนไลน์ ระบุว่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน สร้างรายได้ 342,500 ล้านหยวน หรือ 53,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่าง 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 โดยลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด

“บริษัทอี-คอมเมิร์ซในจีนต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว” Feng กล่าว

ทั้งนี้ JD Logistics เป็นบริษัทย่อยของอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง JD ได้ลงทุน 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบริษัท ESR Caymen ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทโลจิสติกส์เอเชีย เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และภายหลังจากนั้นแค่สัปดาห์เดียวก็ไปซื้อหุ้น 10% ใน China Logistics Property Holdings ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของฮอ่งกง โดยใช้เงินลงทุน 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านคู่แข่งสำคัญของ JD อย่าง อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ได้ทุ่มงบมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนอี-คอมเมิร์ซ อินโดนีเซีย และโลจิสติกส์ใน Lazada และ Tokopedia

Feng กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการใช้อี-คอมเมิร์ซในหลายธุรกิจสร้าโอกาสและความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยการเพิ่มขึ้นของการซื้ออาหารและผลไม้ออนไลน์ ทำให้โลจิสติกส์เผชิญความท้าทายด้านการจัดหาบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษและการควบคุมอุณหภูมิเพื่อรองรับ ดังนั้นจึงต้องไปเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ทำห้องควบคุมความเย็น

ทั้งนี้ Business Wire แพลตฟอร์มข่าวออนไลน์ พบว่า บริษัทโลจิสติกส์หลายรายต่างประยุกต์ใช้เทคโนโลยียล็อคเชนมาเพิ่มประสิทธิภาพในซัพพลายเชน คาดว่าตลาดที่ต้องใช้ห้องควบคุมความเย็นในจีนจะเติบโตมากกว่า 13% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2018-2022

ทางด้านกลุ่มธุรกิจสุขภาพเป็นอีกหนึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการการขนส่งทันทีและควบคุมอุณหภูมิ มีความต้องการพิเศษกว่าโลจิสติกส์ทั่วไป กลุ่มนี้ก็เติบโตรวดเร็วในเอเชียแปซิฟิก ความต้องการด้านโลจิสติกส์ เช่น ขนส่งยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เติบโต Karen Reddington ประธาน ประจำเอเชียแปซิฟิก บริษัท Fedex ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งระดับโลก กล่าว