IMF ชี้เศรษฐกิจตะวันออกกลางปีนี้ เหลือโต 2.9% จากความขัดแย้งภูมิภาค-ลดผลิตน้ำมัน

IMF ชี้เศรษฐกิจตะวันออกกลางปีนี้ เหลือโต 2.9% จากความขัดแย้งภูมิภาค-ลดผลิตน้ำมัน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวานนี้ (11 ก.พ.) ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ สวนทางคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

“แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวน แต่ยังคงฟื้นตัวเหนือความคาดหมาย” นางคริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในเวทีเสวนา Arab Fiscal Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม World Governments Summit ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเตือนว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในฉนวนกาซา อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในรายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่  2.9%  จากคาดการณ์ที่ระดับ 3.4% ในเดือนต.ค. 2566 ส่วนหนึ่งมาจากการลดปริมาณการผลิตน้ำมันในระยะสั้นและความขัดแย้งในฉนวนกาซา

นางคริสตาลินา ยังระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งเห็นได้จากรายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง รวมถึงต้นทุนการขนส่งสินค้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตี ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว

IMF ยังมีกำหนดเผยแพร่รายงานในวันนี้เกี่ยวกับการยุติมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานในตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายคิดเป็นเงิน 3.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของอิรักและลิเบียรวมกัน โดยนางคริสตาลินา กล่าวว่า การทยอยยกเลิกนโยบายอุดหนุนด้านพลังงานยังช่วยลดมลพิษและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้จ่ายทางสังคม

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในปี 2565 คิดเป็น 19% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของพื้นที่นี้ ซึ่ง IMF เสนอให้ประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ค่อยๆ ปรับลดเงินอุดหนุนดังกล่าว โดยเสนอให้มอบเงินสนับสนุนแบบกำหนดเป้าหมายแทน

ในการประชุม World Governments Summit ยังมีการเสวนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งมีผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ระดับโลกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายแซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอของบริษัท OpenAI

ปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาค อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มการลงทุนใน AI อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการกระจายแหล่งรายได้

ก่อนหน้านี้ นางคริสตาลินา เคยกล่าวว่า งานทั่วโลก 40% อาจได้รับผลกระทบจาก AI ซึ่งประเทศที่ขาดวามพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีทักษะในการลงทุนด้านนี้ อาจก้าวตามไม่ทัน

ที่มา: รอยเตอร์