เกาหลีใต้เผชิญวิกฤตอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 ส่งผลให้จำนวนประชากรโสมขาวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แม้รัฐบาลจะพยายามทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อจูงใจให้คนหันมามีบุตรเพิ่มก็ตาม
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ที่เผยแพร่วันนี้ (28 ก.พ.) ระบุว่า จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิงเกาหลีใต้ในวัยเจริญพันธุ์ลดลงจาก 0.78 ในปี 2022 เหลือเพียง 0.72 ในปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2018 เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังคงมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 1
รัฐบาลเกาหลีใต้ถือว่าการแก้ปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลงเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และเมื่อเดือน ธ.ค. ก็ประกาศจะใช้ “มาตรการพิเศษ” เพื่อจัดการปัญหานี้
ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่ๆ ต่างก็งัดกลยุทธ์สู้ศึกเลือกตั้งในเดือน เม.ย. ด้วยการชูนโยบายอุดหนุนที่พักอาศัยและลดเงื่อนไขการปล่อยกู้ โดยหวังส่งเสริมให้คู่รักหันมามีบุตรกันมากขึ้น และยับยั้งไม่ให้เกาหลีใต้เดินไปสู่ภาวะ “สูญพันธุ์สิ้นชาติ” (national extinction)
การที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลในสังคมเกาหลีใต้ หลังจากที่รัฐบาลโซลได้ทุ่มเม็ดเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีบุตรไปแล้วมากกว่า 360 ล้านล้านวอน (ราว 9.6 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ช่วงปี 2006 ทว่าก็ยังแก้อัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกไม่สำเร็จ
วัฒนธรรมเกาหลีใต้ยังถือว่า การสมรส คือ ขั้นตอนที่จำเป็นก่อนการมีบุตร ทว่าด้วยภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันทำให้ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากไม่คิดที่จะแต่งงาน
เกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศเดียวในภูมิภาคที่เผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำและย่างเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นก็มีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 1.26 ในปี 2022 ขณะที่จีนเหลือเพียง 1.09 ซึ่งถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
กรุงโซลมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดของประเทศเพียง 0.55 ในปีที่แล้ว และมีการคาดการณ์กันว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้อาจจะร่วงลงไปเหลือแค่ 0.68 ในปี 2024
ที่มา: รอยเตอร์