By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ฉบับล่าสุด ประจำปี 2016 ที่จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่า ผู้สูงอายุ หรือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก มีอยู่กว่า 929 ล้านคน หรือ 12.5% ของประชากรทั้งโลกที่มีกว่า 7,433 ล้านคน เมื่อย้อนกลับมาดูที่ไทย พบว่า ในปี 2016 มีประชากรไทยทั้งหมด 65.9 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือ 16.5% จัดเป็นสัดส่วนที่สูงอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 18.7%
นอกจากนั้น ไทยยังเผชิญความท้าทายจากอัตราการเกิดที่ช้าลง เหลือ 0.4% ต่อปี ขณะที่ประชากรสูงอายุ กลุ่ม 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี และถ้าเป็นประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงกว่าในอัตรา 6% ต่อปี ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในปี 2021 คือมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า ทุกภาคส่วนของไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จากจุดนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่กี่ปีมานี้ จะเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเริ่มต้นธุรกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี (Startup) สนใจพัฒนาแพลตฟอร์มตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุกันมากขึ้น ด้วยการศึกษาข้อมูลคร่าวๆ ในงาน Startup Thailand 2018 ที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มที่น่าจะตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุมานำเสนอหลายอย่าง ทั้งในเชิงป้องกัน ดูแลและรักษา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี
แม้ในที่สุดแล้วอาจมีเพียงไม่กี่แพลตฟอร์มที่จะไปถึงขั้นประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจในอนาคต แต่อย่างน้อยการมีแพลตฟอร์มเหล่านี้มากๆ ก็สะท้อนความตื่นตัวของสังคมได้ดี
วันนี้ เราจึงขอยกตัวอย่าง 5 Startup ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยมานำเสนอ
- ZeekDoc เว็บไซต์สำหรับค้นหาหมอใกล้บ้านและนัดหมายทันที ก่อตั้งแพลตฟอร์มโดย ผู้ที่ทำงานในแวดวงธุรกิจสุขภาพ จุดเด่น คือ คนไข้สามารถจะเจาะลึกการค้นหาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีบริการให้คำปรึกษาพร้อมทำนัดหมายให้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งก็ทำให้ไม่ต้องไปเสียเวลารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนานๆ ตอบโจทย์ทั้งในเชิงผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเหน็ดเหนื่อยไปรอการรักษาพยาบาลและคนในยุคปัจจุบันที่ต้องการดูแลตัวเองให้ดี เพื่อให้สุขภาพที่ดีเมื่อสูงวัยขึ้น
- Chiiwii Live แอพพลิเคชั่นสำหรับให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพโดยคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ซึ่งจะให้คำปรึกษาผ่านวีดีโอคอล การโทรและแชทภายในแอพนี้ โดยที่ผู้ใช้งานและคุณหมอสามารถเลือกวัน เวลานัดตามที่สะดวกได้ หลักๆ แล้วเหมาะกับผู้หญิงมากๆ เพราะมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับสุขภาพที่ผู้หญิงเป็นกังวลอยู่มาก เช่น การคุมกำเนิด ประจำเดือนผิดปกติ ฮอร์โมน การตั้งครรภ์ ความงาม ผิวพรรณ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการจะต้องเสียค่าบริการด้วย
- PharmaSafe แอพพลิเคชั่นผู้ช่วยการใช้ยาอัจฉริยะ โดยภายในแอพนี้จะมีข้อมูลยาของผู้ใช้งาน เตือนการทานยาและนัดพบแพทย์ เตือนการแพ้ยาหรือยาที่มีผลข้างเคียง รวบรวมข้อมูลยาจากทุกแหล่งที่ผู้ใช้งานได้รับมาให้ เหมาะมากกับสังคมผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานที่ออกไปทำงานนอกบ้าน สามารถไปตั้งค่าต่างๆ ในสมาร์ทโฟนของพ่อแม่ที่สูงวัยเอาไว้ เพื่อเตือนเรื่องการทานยาในช่วงที่ตัวเองไม่ได้อยู่ด้วยกับพ่อแม่ได้ หรือหากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน ก็จะอุ่นใจได้มากขึ้นกับการทานยาได้ตรงตามที่แพทย์สั่ง
- REFIT แพลตฟอร์มตัวกลางจับคู่นักกายภาพบำบัดกับคนไข้ ซึ่งมีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้ร่วมจัดทำขึ้นมา กลุ่มเป้าหมายคือคนทำงานที่เป็นออฟฟิศซินโดรม โดยแพลตฟอร์มนี้กำลังทยอยรับสมัครนักกายภาพเข้ามาร่วม ซึ่งนักกายภาพทั่วประเทศมีกว่า 30,000 คน ปัจจุบันอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ 1,000 คน เริ่มจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ก่อน ในอนาคตตั้งใจขยายไปทั่วประเทศ เบื้องต้นจะจับคู่นักกายภาพกับผู้ใช้งานให้ จากนั้น นักกายภาพจะเดินทางไปหาถึงบ้านหรือที่ทำงานที่นัดหมายเพื่อทำกายภาพบำบัดให้ สำหรับค่าบริการนั้น นักกายภาพจะเป็นผู้ประเมินก่อนตามอาการที่ผู้ใช้งานระบุมา
- WeChef แพลตฟอร์มตัวกลางบริหารจัดการอาหารส่งตรงจากครัวที่บ้านของผู้ทำอาหารสู่ผู้ซื้อ เชื่อมต่อผู้ทำอาหารที่ไม่มีหน้าร้านกับลูกค้า แต่ไม่ใช่ใครมาทำอาหารก็ได้ เพราะต้องเป็นผู้ที่มีใบรับรองการอบรมด้านอาหาร ถ้าไม่เคยมีใบรับรองต้องไปอบรมมาก่อน ปัจจุบันมีผู้สมัครปรุงอาหารขายแล้ว 300 ราย ได้รับคัดเลือกให้ขายได้แล้ว 50 ราย ลักษณะการทำอาหารเป็นการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วจึงทำ ส่วนการส่งอาหารมีค่าจัดส่งตามระยะทาง แพลตฟอร์มนี้หากเดินหน้าได้ดีจะเหมาะมากกับคนวัยเพิ่งเกษียณที่มีฝีมือทำอาหารและมีใบรับรองการอบรมต่างๆ สามารถใช้เป็นช่องทางหารายได้เสริมยามเกษียณได้
นอกเหนือจากตัวอย่างที่ว่ามานี้ ก็ยังมีไอเดียดีๆ ของนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่พร้อมใจกันสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัยเช่นกัน เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ที่คิดค้นซุปผักกึ่งสำเร็จรูป Hi-Healthy สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเคี้ยวยากหรือมีปัญหาการกลืน นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำ Care D2 แอพพลิเคชั่นสำหรับให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทำ Smart-old ตลาดซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์สำหรับคนสูงวัย เป็นต้น
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่พบมาจากในงาน Startup Thailand 2018 เท่านั้น เชื่อว่าหลังจากนี้คงจะมีผู้สนใจพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุออกมาอีกต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า คนไทยที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น