ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ (19 มี.ค.) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับประกาศยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ซึ่งถือเป็นการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานและเป็นประเทศสุดท้ายของโลก หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในปีนี้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า คณะกรรมการ BOJ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1%
นอกจากนี้ BOJ ได้ประกาศยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยที่ผ่านมา BOJ ได้ใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อและขายพันธบัตรดังกล่าว
แถลงการณ์ของ BOJ ยังระบุด้วยว่า BOJ จะยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะค่อยๆ ปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน โดยวางแผนว่าจะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นในวงเงินเท่ากับในช่วงที่ผ่านมา
การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ได้ตัดสินใจถอนนโยบายการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด
ที่ผ่านมานั้น BOJ ลังเลที่จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (ultra-loose monetary policy) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการ BOJ มองว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากราคานำเข้า
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ มีกำหนดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงเวลาต่อไปของวันนี้ โดยตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายอุเอดะอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคต ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดการเงิน
ที่มา: รอยเตอร์