ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เดอะแลนเซต (The Lancet) เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) เปิดเผยว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในเกือบทุกประเทศนั้นจะต่ำเกินกว่าจะสามารถรักษาระดับจำนวนประชากรภายในช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้
นายสไตน์ เอมิล โวลล์เซ็ต นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิลระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของอัตราการเกิดทั่วโลก โดยประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและทางการเมืองนั้น จะเผชิญภาวะ “เบบี้บูม” คือ มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมาก
ข้อมูลระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลก (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อผู้หญิง 1 คน) ลดลงจากประมาณเด็ก 5 คนในปี 2493 มาเป็น 2.2 คนในปี 2564
ในปี 2564 จำนวนประเทศและดินแดนต่าง ๆ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากรที่เด็ก 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คนนั้น มีจำนวนถึง 110 แห่ง คิดเป็น 54% ของทั้งโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า งานวิจัยชิ้นนี้เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในประเทศอย่างเกาหลีใต้และเซอร์เบียที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าเด็ก 1.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาแรงงานหดตัว
แม้ว่าอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในประเทศที่มีรายได้สูงจะเป็นภาพสะท้อนของโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้หญิง แต่นักวิจัยก็ระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ภูมิภาคอื่นๆ จะต้องปรับปรุงการเข้าถึงการคุมกำเนิดสมัยใหม่และการศึกษาสำหรับผู้หญิง
นอกจากนี้ นาตาเลีย ภัตตาชาจี หนึ่งในทีมนักวิจัยยังระบุว่า “เมื่อประชากรเกือบทุกประเทศลดลง การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะมีความจำเป็นในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยระบุว่า การคาดการณ์ในงานวิจัยมีข้อจำกัดจากปริมาณและคุณภาพของข้อมูลในอดีต โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2563-2564
ทั้งนี้ ผลการวิจัยคาดการณ์ว่า ประเทศหรือดินแดนทั่วโลกจำนวน 155 แห่งจากทั้งหมด 204 แห่ง หรือคิดเป็น 76% จะมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับการทดแทนประชากรภายในปี 2593 นอกจากนี้ ภายในปี 2643 จำนวนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 198 แห่ง หรือคิดเป็น 97%
การคาดการณ์นี้อ้างอิงจากผลสำรวจ สำมะโนประชากร และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2493-2564 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาระโรค การบาดเจ็บ และปัจจัยเสี่ยงทั่วโลก (Global Burden of Diseases, Injuries, and Risk Factors Study)
ที่มา: รอยเตอร์