ผู้ว่า ธปท.ให้สัมภาษณ์ CNBC ยันดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ เมินแรงกดดันทางการเมือง ชี้หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซา แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย
วันที่ 29 เมษายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Street Signs Asia” ของสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐฯ ว่า ธปท.ตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นอิสระโดยไม่สนใจแรงกดดันทางการเมือง
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า “ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์” พร้อมระบุเสริมว่าแม้จะเผชิญเสียงเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ ธปท.ไม่ได้ดำเนินการตามเสียงเรียกร้อง เนื่องจากไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ
“ผมคิดว่ากรอบการกำกับดูแลนั้นค่อนข้างชัดเจน … การตัดสินใจที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าดำเนินการบนพื้นฐานของสิ่งที่รู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ แทนที่จะพิจารณาเกี่ยวกับเกี่ยวกับการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่นๆ”
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2567 แต่ ธปท.เผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งรวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
สำนักข่าว CNBC ระบุว่า การปรับลดต้นทุนการกู้ยืมมีแนวโน้มจะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งเสริมให้ธุรกิจกู้เงินมาลงทุนและหนุนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงิน
โดยในรายงานการประชุมเดือนเมษายน 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการผ่อนผันหนี้ …หนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตหรือการสะสมความมั่งคั่ง”
ผู้ว่าการ ธปท.รับทราบว่า นี่เป็นการสร้างสมดุลที่ยากลำบากสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากพยายามจัดการกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่อ่อนแอ โดยระบุว่า “หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซา จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเลย”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า “อัตราปัจจุบันเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวและสอดคล้องกับการพยายามในการลดภาระหนี้สินในระบบอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้สินภาคครัวเรือนมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มมากเกินไป”
โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 ตามรายงานล่าสุดของ ธปท. โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว
ในขณะที่ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยค่อย ๆ ดีขึ้นและกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายของเรา ซึ่งอยู่ที่ 1% ถึง 3% ภายในสิ้นปี 2567
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเสริมว่า อุปสรรคด้านโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไม่แน่นอน โดยมีความจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพ เนื่องจากประเทศเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ โดยมีกำลังแรงงานที่หดตัว
“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมาก คือ ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องการลงทุนสาธารณะ ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นระยะสั้น”
ที่มา: ซีเอ็นบีซี