อดีตขุนคลังเชื่อโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยแบงก์ชาติ

อดีตขุนคลังเชื่อโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยแบงก์ชาติ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า ไทยต้องหาจุดแข่งใหม่

สัมภาษณ์รอยเตอร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567

*ถาม ขอให้อธิบายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับแบงค์ชาติ

#ตอบ การที่รัฐมนตรีคลังมีข้อขัดแย้งกับผู้ว่าฯ แบงค์ชาตินั้น เป็นเรื่องปกติ โดยรัฐมนตรีคลังแต่ละยุคจะต้องหาทางบริหารข้อขัดแย้ง

รัฐมนตรีคลังมักจะเน้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติจะต้องพิจารณาให้สมดุลกับความยั่งยืนและเสถียรภาพ

ท่านนายกฯ เศรษฐาในช่วงที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ได้สร้างแรงกดดันผู้ว่าฯ แบงค์ชาติหลายครั้งผ่านสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้ผล แต่บัดนี้ รัฐมนตรีคลังคนใหม่เคยเป็นกรรมการในบอร์ดแบงค์ชาติ น่าจะเข้าใจวัฒนธรรมของแบงค์ชาติ และการร่วมงานน่าจะราบรื่นมากขึ้น

*ถาม คุณคิดว่า แบงค์ชาติควรลดดอกเบี้ยหรือยัง

#ตอบ ผมคิดว่า แบงค์ชาติยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้นโยบายการคลังที่ไม่ก่อประโยชน์เท่าที่ควร โดยเฉพาะโครงการแจกเงินเหวี่ยงแหดิจิทัล Wallet ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการจะลดดอกเบี้ย

ขณะนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดแนวทางการทำงานของแบงค์ชาติ รวมทั้งการคุ้มครองฐานะของผู้ว่าฯ ที่ชัดเจน จึงมีความเป็นอิสระสูง

*ถาม จะมีเงื่อนไขอะไร ที่ทำให้แบงค์ชาติลดดอกเบี้ยลงได้

#ตอบ ถ้ารัฐบาลทำให้แบงค์ชาติมั่นใจได้ ว่า จะยุติการใช้จ่ายสิ้นเปลือง ก็จะเป็นก้าวเริ่มต้นสำคัญก้าวแรก

เงื่อนไขที่สองคือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยควรต้องเร่งการลงทุนภาคเอกชนเพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

เงื่อนไขที่สามคือ ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง จะช่วยผ่อนคลายภาระชำระรายเดือนของลูกหนี้ ซึ่งขณะนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก และมีปัญหาธุรกิจขนาดใหญ่บางรายเริ่มขาดสภาพคล่องเงินหมุนเวียน

ผมเองเห็นว่า สภาวะธุรกิจทั่วไปในประเทศไทย สมควรจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้แล้ว แต่ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังต้องใช้ทักษะในการทำให้ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติคล้อยตาม

*ถาม สภาวะเงินเฟ้อในไทยเป็นอุปสรรคต่อการลดดอกเบี้ยหรือไม่

#ตอบ อัตราเงินเฟ้อในไทยต่ำกว่าระดับขั้นต่ำ 1% ที่แบงค์ชาติตกลงไว้กับกระทรวงการคลังมาพักหนึ่งแล้ว และถึงขั้นติดลบมาถึงหกเดือนก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวกว่าที่คาด และอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะสูงเกินไป

ผมตั้งข้อสังเกตว่า จังหวะเวลาที่แบงค์ชาติเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 2022 จาก 0.50% เป็นบันใดหลายขั้น ไปถึง 2.50% นั้น หลังจากเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพียงเดือนเดียว อัตราเงินเฟ้อก็พีค และเริ่มลดลงจากจุดสูงสุดแล้ว

ในความเห็นของผม สาเหตุที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงนั้น ปัจจัยหลักเกิดจากสินค้าขาดตลาดจากล็อคดาวน์ในวิกฤตโควิด ซึ่งภายหลังจะคลี่คลายลงเอง จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป

ดังนั้น ผมจึงวิจารณ์ว่า แบงค์ชาติเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เรียกว่า behind the curve ทำให้ขึ้นดอกเบี้ยไปชนเพดานในระดับที่สูงเกินไป

ถ้าแบงค์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่เนิ่นๆ และขึ้นแต่ละขั้นบันใดเพียงทีละน้อย เมื่อขึ้นแล้ว ก็ควรหยุดรอดูผลพักหนึ่งก่อน ถ้าทำเช่นนี้ เพดานดอกเบี้ยอาจจะไม่จำเป็นต้องขึ้นไปสูงจนถึง 2.50% ดังที่เกิดขึ้น

*ถาม สภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร

#ตอบ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดยังไม่มาก จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรัฐบาลจีนเน้นให้เที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

ผมมีความเห็นว่า ศักยภาพอัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ประมาณ 3% ต่อปี และอัตราขยายตัวล่าสุด ต่ำกว่าศักยภาพพอสมควร นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขทั้งปีจะอยู่ระหว่าง 2.6-2.7%

สำหรับรายได้ของประชากร การฟื้นตัวเป็นรูปตัว K โดยกลุ่มที่มีการศึกษาสูง หรือมีทักษะการทำงานสูง มีรายได้ที่ฟื้นตัวขึ้นไปสูงกว่าก่อนโควิด แต่กลุ่มที่มีทักษะต่ำ รายได้อย่างต่ำกว่าก่อนโควิด

ในกลุ่มลูกหนี้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ขณะนี้มีปัญหาว่า รายได้เมื่อหักรายจ่ายแล้ว มีเงินเหลือไม่พอชำระดอกเบี้ย และไม่พอชำระคืนหนี้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ จะกระทบระบบแบงค์ และจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

*ถาม ตัวเลขขยายตัวเศรษฐกิจรายไตรมาส สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่

#ตอบ ผมมองไปอนาคตข้างหน้า ท้องฟ้าทางเศรษฐกิจไม่ค่อยแจ่มใส สงครามการค้าจะหนักขึ้น ประเทศไทยต้องร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐกับเอกชน คิดใหม่ทำใหม่ มิฉะนั้นการขยายตัวในอนาคตคงไม่ดีขึ้นกว่านี้มากนัก

*ถาม ช่วยวิจารณ์ว่า ประเทศจีนจะมีบทบาทความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

#ตอบ ในการวางแผนเศรษฐกิจของไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า จะต้องวางตำแหน่งประเทศจีนเป็นหลักสำคัญ โดยคำนึงว่าจีนเอง กำลังจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรองรับสงครามการค้ากับสหรัฐ แนวโน้มการค้าในภูมิภาคเอเซียกันเองจึงจะขยายตัวเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีกระแสการลงทุน ที่ย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศจีนมายังอาเซียน เพื่อแก้ปัญหากำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐและยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาไหลเข้าไปลงทุนที่เวียดนามอย่างมาก เพราะอยู่ติดกับจีน และโรงงานหลักสามารถไปตั้งในเวียดนาม โดย ขนส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนไปจากจีน จนกว่าปริมาณผลิตสูงพอ พวกซัพพลายเออร์ก็จะค่อยตั้งโรงงานในเวียดนาม

ซึ่งเป็นเช่นนี้ได้ เพราะมีระบบรถไฟรางมาตรฐานเชื่อมระหว่างจีนตอนใต้กับเวียดนามตอนเหนือ แต่ประเทศไทยไม่สามารถได้ประโยชน์เช่นนั้น เพราะไทยพัฒนารถไฟเชื่อมกับจีนล่าช้ามาก

อีกประการหนึ่ง ไทยเป็นจุดกึ่งกลางที่สามารถเชื่อมการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย และไทยมีนักธุรกิจเชื้อสายจีนเชื้อสายอินเดียอยู่มาก จึงสามารถจะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งภูมิศาสตร์ได้

*ถาม รัฐมนตรีคลังคนใหม่ กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีปัญหา ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบแบงค์ได้สะดวก ปัญหานี้ใหญ่กว่านี้เรื่องดอกเบี้ย จริงหรือไม่

#ตอบ ผมเห็นว่าต้องแก้ปัญหาทั้งสองด้าน ดอกเบี้ยก็ควรลด และแบงค์ชาติควรเร่งเพิ่มการแข่งขันในระบบแบงค์พาณิชย์

ในห้วงเวลาสั้นที่ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง ผมเสนอให้แนวคิดแบงค์ชาติพิจารณาเปิดรับสาขาแบงค์ต่างชาติ สามรายใหญ่สุดจากประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย โดยไม่ต้องรอให้แบงค์ไทยพร้อมที่จะไปเปิดสาขาเป็นการแลกเปลี่ยน แต่น่าเสียดายที่ไม่คืบหน้า

รัฐบาลมีความจำเป็นต้องวางแผนแก้ปัญหาลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ทั้งหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจ SME เป็นการเร่งด่วน

สำหรับปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบนั้น ผมเคยเผยแพร่แนวคิดให้รัฐบาลค้ำประกันลูกหนี้รายใหม่สำหรับโครงการที่เหมาะสม ในระดับสูงพิเศษเป็นการชั่วคราว 70-80% เพื่อกระตุ้นให้แบงค์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ และเคยเสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้ง Startup VC Fund เพื่อรัฐบาลเข้าไปร่วมลงทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม

*ถาม มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้า

#ตอบ ผมคิดว่า ถึงเวลาที่รัฐมนตรีคลังจะหารือกับผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ เพื่อปรับปรุงหรือแสวงหาจุดแข่งขันใหม่

เดิมประเทศไทยอาศัยโมเดลซัพพลายเชนที่ต่างชาติลงทุนผลิตชิ้นส่วนในประเทศเอเชียหนึ่ง นำไปเพิ่มมูลค่าในอีกประเทศหนึ่ง เพื่อไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ในชั้นสุดท้ายในอีกประเทศหนึ่ง โดยเน้นความสามารถในการแข่งขันจากค่าแรงต่ำ

แต่สงครามการค้าที่จะเข้มข้นมากขึ้น จะทำให้โมเดลซัพพลายเชนเปลี่ยนไป

ตัวเลขส่งออกของไทยตอกย้ำปัญหานี้

ภายหลังจากวิกฤตโควิด จะเห็นได้ว่า ยอดส่งออกรายเดือนของไทย เฉลี่ยเดือนละ 2.5-2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เดินเป็นแบบ sideway ไม่โตขึ้น ติดกับคงที่ เป็นเช่นนี้มานานถึงสามปีครึ่งแล้ว

*ถาม แนวโน้มค่าเงินบาทเป็นอย่างไรในอนาคต และจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

#ตอบ ผมเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ไม่ว่าลดดอกเบี้ย เพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มสินเชื่อ ถึงแม้ว่าจะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนลง ก็ไม่ควรจะกังวลมากเกินไป เพราะหนี้ที่เป็นสกุลต่างประเทศยังมีน้อย

การช่วยให้เอกชนสามารถหาเงินทุนได้สะดวกขึ้น เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร เปลี่ยนวิธีการผลิต ประหยัดพลังงาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า และเป็นเรื่องที่เร่งด่วน

*ถาม คุณคิดว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลักการความมีอิสระของแบงค์ชาติหรือไม่

#ตอบ ขณะนี้ แบงค์ชาติของไทยมีความเป็นอิสระสูง และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางลดความมีอิสระของแบงค์ชาติ

รัฐมนตรีคลังต้องหาวิธีพูดจากับผู้ว่าฯแบงค์ชาติในภาษาเดียวกัน ต้องหาวิธีที่จะโน้มน้าวความคิดของแบงค์ชาติ แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด อาจจะอยู่ที่รัฐมนตรีคลังให้ความมั่นใจแก่แบงค์ชาติได้ว่า ต่อไปนี้ จะควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ที่มา: รอยเตอร์