บอนด์ยีลด์กลุ่มประเทศ ศก.เกิดใหม่เอเชีย รับอานิสงส์ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง

บอนด์ยีลด์กลุ่มประเทศ ศก.เกิดใหม่เอเชีย รับอานิสงส์ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า อัตราผลพันธบัตรรัฐบาล หรือ บอนด์ยีลด์ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีแนวโน้มได้อานิสงส์มากกว่าตลาดอื่น ๆ จากการที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หลังนักวิเคราะห์พบค่าสเปรดหรือส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรฝั่งเอเชียและสหรัฐฯ หดแคบลง

ข้อมูลที่บลูมเบิร์ก วิเคราะห์พบว่า พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ อายุ 10 ปี มีค่าสเปรดอยู่ที่ประมาณ 1.00% ซึ่งต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทเดียวกัน คิดเป็นค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 2.1 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงห้าปี นอกจากนี้ จากการคำนวณค่าสเปรดพันธบัตรรัฐบาลในฝั่งอินเดีย มาเลเซีย และจีน ยังมีสัดส่วนที่แคบเช่นกัน ขณะที่ ในฝั่งฮังการี โคลอมเบีย โปแลนด์ และเม็กซิโก พบว่า ค่าสเปรดค่อนข้างกว้างกว่า

บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ หลังมีสัญญาณที่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจขยับขึ้นดอกเบี้ย แม้คณะกรรมการเฟดจะยังคงแสดงจุดยืนตรึงดอกเบี้ยสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม ขณะที่ ผู้กำหนดนโยบายการเงินในภูมิภาคต่างจับตาสัญญาณที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบาย แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของบางประเทศในภูมิภาคจะชะลอตัวลง ซึ่งเอื้อต่อการปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟดก็ตาม

Eugene Leow นักวิเคราะห์อาวุโสด้านอัตราดอกเบี้ย จาก DBS Group Holdings ในสิงคโปร์ มองว่า “ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียนั้นหดแคบลงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากภูมิภาคนี้ไม่ได้เผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อแบบในสหรัฐฯ ท้ายที่สุดเมื่อเฟดปรับลดดอกเบี้ยต่ำลง ข้อจำกัดจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ย่อมจะมีผลเกี่ยวเนื่องน้อยลง และนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็น”

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลง 0.07% ในเดือนพ.ค. ขณะที่ พันธบัตรประเภทเดียวกันของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียลดลง 0.11% ตามข้อมูลที่บลูมเบิร์กรวบรวม เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ลดลง 0.04% เท่านั้น ขณะที่ฝั่งละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดลงนั้นส่งผลให้การลงทุนในตลาดบอนด์ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียน่าดึงดูดมากขึ้น เป็นผลให้มีเม็ดเงินจากทั่วโลกไหลเข้าพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพ.ค. นับเป็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ พันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียมีเงินลงทุนจากต่างชาติอยู่ที่ 944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในช่วงกลางเดือนมิ.ย. นี้ ซึ่งหากมีการส่งสัญญาณเชิง Dovish ก็อาจเปิดทางให้ผู้กำหนดนโยบายการเงินในภูมิภาคเริ่มผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ล้วนต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในภูมิภาคเริ่มชะลอตัวลง และคลายแรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ในประเทศ

ที่มา: บลูมเบิร์ก