รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอเอฟพี จากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2567) ว่า ยูนิเซฟรายงานว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากกว่า 1 ใน 4 ของโลก หรือ 181 ล้านคน กำลังประสบปัญหาความยากจนทางอาหารที่รุนแรง
ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตและพัฒนาการ ความยากจนทางอาหารแสดงให้เห็นว่า เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก และได้รับสารอาหารเพียง 2 หมู่หรือน้อยกว่านั้น ดร.แฮเรียต ทอร์เลสส์ ผู้เขียนรายงาน ระบุ มันน่าตกใจที่ทุกวันนี้ปัญหายังเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เรารู้ตัวว่าควรจัดการอย่างไร โดยยูนิเซฟแนะนำว่า เด็กเล็กควรรับประทานอาหารให้ครบ 5-8 หมู่ในแต่ละวัน อาทิ นมแม่ ธัญพืช พืชหัว ถั่วและเมล็ดพืช นม เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ไข่ และผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 440 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางเกือบ 100 แห่ง กำลังเผชิญกับความยากจนทางด้านอาหาร โดยมีเด็กถึง 181 ล้านคน ที่ได้รับประทานอาหารเพียง 2 หมู่ เด็กซึ่งบริโภคอาหารเพียง 2 หมู่ต่อวัน เช่น ข้าวและนมบางส่วน มีแนวโน้มเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงถึงร้อยละ 50
นางแคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ ระบุในแถลงการณ์ซึ่งภาวะทุพโภชนาการอาจนำไปสู่ภาวะผอมแห้งที่ถึงแก่ชีวิต แม้เด็กเหล่านี้จะมีชีวิตรอดและเติบโตขึ้น แต่ “พวกเขาไม่เจริญเติบโตอย่างแน่นอน และจะเรียนหนังสือได้ไม่ดีนัก ดร.ทอร์เลสส์ กล่าว เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ การหารายได้จะยากขึ้น ส่งผลให้เกิดวงจรแห่งความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น” เธออธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าคุณนึกถึงสมอง หัวใจ และระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีความสำคัญต่อกลไกป้องกันโรคของร่างกาย ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับวิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีน ความยากจนทางอาหารอย่างรุนแรงในเด็กกระจุกตัวอยู่ใน 20 ประเทศ และสถานการณ์ย่ำแย่มากที่สุดในโซมาเลีย ซึ่งมีเด็กได้รับผลกระทบร้อยละ 63, กินี ร้อยละ 54, กินี-บิสเซา ร้อยละ 53 และอัฟกานิสถาน ร้อยละ 49
แม้ไม่มีข้อมูลในประเทศที่ร่ำรวย แต่เด็กๆ ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ก็ประสบปัญหาช่องว่างทางโภชนาการเช่นกัน นับวันจะยิ่งเห็นปัญหาเรื่องเด็กขาดสารอาหารมากขึ้นทุกที จากปัญหาความยากจนและปัญหาโลกร้อนที่ทำให้การผลิตอาหารได้ลดลง
ที่มา: เอเอฟพี