สำนักงานรอยเตอร์ รายงานว่า นายนเรนทรา โมดี เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ว่า ทว่าชัยชนะของเขาก็ดูเหมือนเป็นความล้มเหลว จากตัวเลขที่นั่งที่ลดต่ำลงเกินคาด ทำให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังจากที่พรรคภาราตยะชนตะ (บีเจพี) ของเขาเคยครองเสียงข้างมากเด็ดขาดมาตลอด
พิธีสาบานตนจัดที่ทำเนียบประธานาธิบดีราษฎรปติภวัน โดยมีบุคคลสำคัญของอินเดียเข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งหลายพันคน นำโดยนางเทราปที มุรมู ประธานาธิบดีอินเดีย รวมถึงผู้นำจาก 7 แคว้น นักแสดงบอลลีวู้ด และนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศอินเดีย
ก่อนหน้าที่จะเข้าพิธีสาบานตนนั้น โมดีระบุผ่านบัญชี X ว่า “เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะรับใช้ประชาชนชาวอินเดีย” ขณะที่ บรรดาผู้สนับสนุนส่งเสียงร้องเรียกชื่อนายโมดีดังกระหึ่ม ทั้งนี้ เขาเดินเข้าสู่พิธีปฏิญาณตนในเสื้อกูรตะสีขาว ตัดกับเสื้อแจ็กเก็ตแขนกุดสีน้ำงานจัดจ้าน โดยมีสมาชิกอาวุโสรัฐบาลเก่าของเขาเดินตามหลัง
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ เขากำลังสาบานตนอยู่นั้น มีเสียงเสียงวิจารณ์ในเรื่องความสามารถของรัฐบาลในการจัดการเรื่องมั่นคงของประเทศเข้ามาแทรก สืบเนื่องจากการก่อการร้ายที่รัฐชัมมูและกัศมีร์ โดยคนร้ายได้บุกขึ้นรถบัสซึ่งผู้แสวงบุญชาวฮินดูเป็นผู้โดยสาร และก่อเหตุกราดยิงซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย และมีผู้บาดเจ็บถึง 33 คน
โมดีเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นนักประชาสัมพันธ์ของพรรคชาตินิยมฮินดู ราษฏรียะ สวยัมเสวัก สงฆ์ (RSS) ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดของพรรคบีเจพีของโมดีในเวลาต่อมา โดยโมดีเป็นนายกคนที่ 2 ของอินเดียที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่ 3 นอกจากนายกรัฐมนตรีชวาหะร์ลาล เนห์รู รัฐบุรุษของประเทศ
ทว่าชัยชนะของโมดีก็เปรียบเสมือนความพ่ายแพ้ เขาจำเป็นจับมือพรรคพันธมิตรในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นดีเอ) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ในขณะที่ชัยชนะของเขา 2 ครั้งที่ผ่านมา พรรคบีเจพีครองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ผลการเลือกตั้งยังสวนทางกับผลสำรวจคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง ที่ชี้ว่าเขาจะสามารถกวาดที่นั่งได้มากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งถูกมองว่าเป็นผลจาอัตราการว่างงานสูง ราคาสินค้าที่แพงในรายได้ที่ต่ำ และความเชื่อทางศาสนาต่อต้านชาวมุสลิมในประเทศแบบสุดโต่ง
นักวิเคราะห์หลายท่านวิเคราะห์ว่า โมดีจะเผชิญกับความท้าทายทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างแสวงหาผลประโยชน์ของตนด้วยการใช้อำนาจต่อรอง อีกทั้งพรรคร่วมยังเป็นฝ่ายค้านต่อต้านนโยบายของโมดีเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารเงินคลังของประเทศ เอ็นดีเอต้องการใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนา ในทางกลับกันพรรคพีเจพีต้องการใช้ไปกับเรื่องสวัสดิการภาครัฐ เพื่อดึงดูดคะแนนนิยมของประชาชนชาวอินเดียกลับมา
ที่มา: รอยเตอร์