Fund Comment พฤษภาคม 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment พฤษภาคม 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ  วันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนานกว่าที่เคยคาดไว้ เพราะกังวลต่อเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวสูง พร้อมประกาศแผนชะลอการลดขนาดงบดุล (QT taper) โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้ จะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเป็นเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมลดเดือนละ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่คงการลดการถือครอง MBS เดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไว้ตามเดิม ทำให้โดยรวม งบดุลของเฟดจะลดลงเดือนละ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ลดลงเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปตามที่ตลาดคาด ขณะที่ ท่าทีของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่ระบุว่า เฟดไม่น่าที่จะขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มแล้ว ทำให้ตลาดคลายความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะกล่าวถึงการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่น 2 ปี และ 10 ปี เทียบกับสิ้นเดือน เม.ย. ปรับลดลง 0.13% และ 0.22% มาอยู่ที่ระดับ 4.91% และ 4.47% ตามลำดับ

สำหรับตลาดพันธบัตรไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวในกรอบแคบ โดยทุกช่วงอายุปรับขึ้นลงไม่เกิน 0.05% เป็นการปรับตัวตามตัวเลขเศรษฐกิจและข่าวที่ประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนที่ขยายตัว 0.19% YoY พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน สูงกว่าคาดที่ -0.20% เป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางและราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 1.5% YoY ได้แรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยว ในขณะที่ การลงทุนภาครัฐยังหดตัว ทั้งนี้ สศช.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลง จากเดิมประมาณการไว้ 2.2-3.2% ต่อปี เป็นขยายตัวในช่วง 2-3% ต่อปี รวมถึงข่าวคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณ 2567 เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย รุ่น 2 ปี และ 10 ปี เทียบกับสิ้นเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.03% และ 0.04% มาอยู่ที่ระดับ 2.40% และ 2.82% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขตลาดแรงงาน พัฒนาการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่สร้างความผันผวนให้กับตลาด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศสิ่งที่ต้องติดตาม คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า จะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงแผนการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สร้างความผันผวนให้กับอัตราผลตอบแทนในตลาดได้