Fund Comment มิถุนายน 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

Fund Comment มิถุนายน 2024: มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มิ.ย. 2024 ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตามคาด ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 1 เป็นการคงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 แต่มีคณะกรรมการลงมติให้คงดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1 เสียง จากการประชุมครั้งก่อนที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง สำหรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ธปท. คงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2024 และ 2025 ไว้ที่ 2.6% yoy และ 3.0% yoy ตามลำดับ โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ เงินเฟ้อปี 2024 และ 2025 คาดอยู่ที่ 0.6% yoy และ 1.3% yoy ตามลำดับ จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล พร้อมทั้งประเมินเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่เป้าหมายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ในขณะที่ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังคงสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย  ทั้งนี้ ธปท. แสดงความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและสนับสนุนให้ใช้มาตรการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยมาตรการที่ตรงจุด ผลการประชุมสนับสนุนความเชื่อของตลาดที่ว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงในกรอบ 0.05%-0.14%

การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 13 มิ.ย. 2024 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามตลาดคาด โดยที่ประชุมระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาเห็นความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านราคาที่ 2% ซึ่งแตกต่างจากการประชุมครั้งก่อนที่ระบุว่าขาดความคืบหน้า นอกจากนั้น ยังส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น้อยลงในปีนี้ผ่าน Dot plot โดยในการประชุมรอบนี้ Dot Plot ชี้ว่า ปีนี้คาดการลดอัตราดอกเบี้ยไว้ 1 ครั้ง (จากเดิมลด 3 ครั้ง) ปี 2025 คาดมีการลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง (จากเดิมลด 3 ครั้ง) โดยสรุปจำนวนครั้งของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปี 2024-2025 อยู่ที่ 5 ครั้ง จากเดิม 6 ครั้ง ผลการประชุมที่ออกมาเพิ่มความมั่นใจให้ตลาดว่าปีนี้จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่น 2 ปี และ 10 ปี เทียบกับสิ้นเดือน พ.ค. ปรับลดลง 0.18% และ 0.15% มาอยู่ที่ระดับ 4.71% และ 4.36% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขตลาดแรงงาน รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศสิ่งที่ต้องติดตาม คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะเข้าสู่ตลาดสำหรับปีงบประมาณ 2025 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้