เมื่อวันที่ 20 ก.ค. สำนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์ รายงานว่า ธุรกิจและบริการต่างๆ ทั่วโลกเริ่มทยอยกลับมาดำเนินตามปกติอีกครั้ง ภายหลังการล่มของระบบไอทีทั่วโลกที่กินเวลาหลายชั่วโมง ในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นผลมาจากการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่ผิดพลาดของคราวด์ สไตรก์ บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ส่งผลให้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของบริษัท ไมโครซอฟท์ล่ม
การให้บริการสายการบินบางส่วนเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังเที่ยวบินหลายพันเที่ยวบินถูกยกเลิกจากปัญหาด้านระบบไอทีที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ทางสายการบิน คาดว่า เที่ยวบินอาจล่าช้า หรือยกเลิกต่อเนื่องไปตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ ด้านธุรกิจต่างๆ กำลังรับมือกับการรับคำสั่งซื้อที่ตกหล่นและติดค้างซึ่งอาจใช้เวลาแก้ไขหลายวัน
นอกจากนั้นแล้ว การล่มของระบบไอทีอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อบริษัทต่างๆ ที่จ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ด้านการเดินทางทางรางอาจเจอกับความล่าช้า รวมถึงสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษและเอบีซีของออสเตรเลียที่มีปัญหาในการออกอากาศได้เริ่มกลับมาออกอากาศอีกครั้งเช่นกัน นายพีต บูติเจิจ รัฐมนตรีคมนาคม สหรัฐฯ กล่าวว่า ปัญหาของระบบไอทีดูเหมือนว่าจะได้รับการแก้ไขแล้ว และการคมนาคมอาจกลับมาเป็นปกติอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ค.
ปัญหาของระบบไอทีครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในเวลา 19.00 น. ตามเวลากรีนิช ของวันที่ 18 ก.ค. ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ CrowdStrike Falcon จนต่อมาปัญหาดังกล่าวเริ่มส่ง ผลกระทบเป็นวงกว้างในวันที่ 19 ก.ค. และกระทบมาถึงไทย
ระบบการชำระเงินและธนาคารทั่วโลกได้รับผลกระทบ ผู้คนไม่สามารถชำระเงินซื้อของในร้านค้า สนามบินทั่วโลกต้องรับมือกับผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก เพราะเที่ยวบินล่าช้า หรือถูกยกเลิก โดยข้อมูลจากบริษัท Cirium ที่เก็บข้อมูลด้านการบินระบุว่า เที่ยวบินกว่า 4,000 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 3.9% ของทั้งหมด ถูกยกเลิก ขณะที่สนามบินหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ต้องเช็กอินและเขียนบอร์ดดิ้งพาสให้แก่ผู้โดยสารด้วยมือ การให้บริการด้านสุขภาพในอังกฤษ อิสราเอล และเยอรมนี ได้รับผลกระทบเช่นกันจนต้องยกเลิกการผ่าตัดให้แก่คนไข้บางราย ปัญหาคลี่คลายเมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 ก.ค. นายจอร์จ เคิร์ต ซีอีโอคราวด์สไตรก์ ได้ออกมาขอโทษต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และกล่าวว่า ได้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยอมรับว่า อาจใช้เวลาสักระยะกว่าระบบทุกอย่างจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง แต่ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นทำให้หุ้นของบริษัทดิ่งลงราว 12% ในวันเดียวกัน ขณะที่หุ้นของไมโครซอฟท์ ลดลง 0.7%
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความกังวลถึงความเปราะบางของเทคโนโลยีโลกที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน เพราะความผิดพลาดบนซอฟต์แวร์เพียงจุดเดียวสามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงมีการตั้งคำถามถึงอิทธิพลของบริษัทคราวด์สไตรก์ ในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มีบริษัทใช้บริการกว่า 20,000 ราย และกว่าครึ่งของบริษัทที่มีรายได้มากที่สุด 500 อันดับแรกของโลก รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกาใช้บริการ คราวด์สไตรก์ การล่มของระบบไอทียังจุดข้อกังวลว่า หลายองค์กรไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุการณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การล่มจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเครือข่ายและองค์กรต่างๆ จะต้องมีแผนสำรองดีขึ้น เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
หลังการล่มของระบบไอทีครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาคาดการณ์สาเหตุของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์หลายคนให้ความเห็นว่า การอัพเดตซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุดของ Falcon Sensor จะทำให้ระบบของผู้ใช้บริการมีการป้องกันการแฮกข้อมูลที่ดีขึ้น จากการที่ซอฟต์แวร์มีการอัพเดตภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ตัวซอฟต์แวร์จะป้องกันให้แก่ผู้ใช้บริการ แต่การลงโค้ดที่ผิดพลาดในไฟล์อัพเดตทำให้เกิดการล่มของระบบไอทีดังกล่าว นายแพททริค วาร์เดิล นักวิจัยด้านความมั่นคงที่เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาภัยคุกคามต่อระบบปฏิบัติการ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์จะอัพเดตโค้ดที่ตรวจจับโค้ด หรือซอฟต์แวร์ที่อาจเป็นอันตราย อาทิ วันละ 1 ครั้ง เพราะอยากทำให้แน่ใจว่า ผู้ใช้บริการจะได้รับการป้องกันจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ใหม่ๆ แต่การอัพเดตที่บ่อยครั้งอาจเป็นสาเหตุที่คราวด์สไตรก์ไม่ได้ทดสอบซอฟต์แวร์อย่างละเอียดก่อนที่จะอัพเดต
ที่มา: รอยเตอร์